การอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส มีขอบเขตแค่ไหน
การอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส มีขอบเขตแค่ไหน
ในส่วนของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 นั้น กำหนดให้ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และนอกจากนี้ยังมีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะด้วย
ในส่วนของการช่วยเหลือกันนั้น เป็นการช่วยเหลือให้อีกฝ่ายได้รับความสะดวกสบาย หรือแก้ปัญหาให้ตามสภาพของการเป็นสามีภรรยากัน เช่น การให้คำแนะนำปรึกษา การดูแลยามเจ็บป่วย หรืองานทั่วไปไม่ว่าจะเป็นงานบ้านต่างๆ อย่างซักผ้า ล้างจาน หรือเกี่ยวกับบุคคลภายนอกเช่น การจ่ายตลาด หรือไปรับ-ส่งบุตร
สำหรับการอุปการะเลี้ยงดูนั้น เป็นไปตามความสามารถและฐานานุรูป โดยไม่ขึ้นตรงต่อเพศสภาพ ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงมีทั้งฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายอาจอุปการะกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ของคู่สมรสในขณะนั้น ซึ่งหากคู่สมรสฝ่ายใดมีสภาพที่ไม่อาจอุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายได้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่งต้องดูแลเช่นกัน อาทิ สามีเคยหาเลี้ยงครอบครัว แต่ต่อมาถูกทำร้ายจนพิการ ต้องพักอยู่ที่บ้านจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เป็นหน้าที่ของภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดู (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3461/2524) หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูตามฐานะนั้น อาจมีขึ้นหรือหมดไปก็ได้ขึ้นอยู่กับฐานะเช่นกัน เช่น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3004/2538 เดิมสามีเป็นข้าราชการ แต่ต่อมาต้องถูกออกจากราชการเพราะมีคดี ตามฐานะจึงไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูได้ แต่ต่อมาสามีได้รับมรดกจากมารดาจนมีฐานะดีขึ้นแล้ว ศาลจึงพิพากษาให้สามีต้องใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่วันที่ได้รับมรดกจนถึงวันฟ้อง
อย่างไรก็ดี หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นแตกต่างจากคู่สมรส ภายให้มาตรา 1564 ดังนั้น ไม่ว่าสามีหรือภริยาจะมีสถานะอย่างไร ทั้งสามีและภรรยาต้องร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรเสมอ
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments