นัดผู้เยาว์มาข่มขืนแล้วปล่อยไป ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์

       ปกติความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น  แม้ผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ก็ยังเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์อยู่ดี เนื่องจากการพรากผู้เยาว์นั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยปริยาย ไม่ว่าผู้เยาว์จะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลา นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดว่าพรากโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านไปเองโดยมีผู้ชักนำ หรือไม่มีผู้ชักนำก็ตาม ก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น ซึ่งต่างจากความผิดฐานข่มขืน หรืออนาจาร ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกข่มขืน ดังนั้นหากมีการพาผู้เยาว์ไป โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย แม้ผู้พาไปจะไม่มีความผิดฐานข่มขืน แต่ก็ยังคงมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อยู่นั่นเอง

          อนึ่ง ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น พิจารณาแต่เพียงการ “พา” ผู้เยาว์ไปจากความปกครองของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเท่านั้น ดังนั้น หากไม่มีการ “พาไป”แล้ว ก็ไม่ใช่การพราก อันเป็นองค์กระกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ผู้กระทำไม่อาจมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้

          กรณีตัวอย่าง จำเลยได้ข่มขืนผู้เยาว์แล้วครั้งหนึ่ง ภายหลังได้โทรเรียกให้ผู้เยาว์เดินทางมาที่จุดนัดพบ ผู้เยาว์ขี่จักรยานยนตร์มาหา โดยที่จำเลยก็เดินทางไปยังจุดนัดพบเช่นเดียวกัน จำเลยข่มขืนผู้เยาว์ที่จุดนัดพบ แล้วปล่อยผู้เยาว์เดินทางกลับบ้าน  หลังจากนั้นได้โทรเรียกผู้เยาว์มาข่มขืนอีก ผู้เยาว์ก็เดินทางมาให้จำเลยข่มขืนที่จุดนัดพบอีกหลายครั้ง โดยจำเลยไม่พาผู้เยาว์เดินทางไปด้วยหรือหน่วงเหนี่ยวผู้เยาว์ไว้  แม้การเดินทางมาให้จำเลยกระทำชำเราจะเกิดขึ้นเพราะถูกข่มขู่ก็ตาม

          ทั้งนี้ศาลฎีกาได้เคยให้ความเห็นไว้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19979/2555 ดังนี้

          เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยโทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมที่ 3 นัดให้ไปพบที่บริเวณถนนสายบ้านมนคีรี ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย บอกว่ามีธุระจะคุยด้วย โจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ออกไปพบจำเลย แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 ที่บริเวณข้างถนนดังกล่าว ต่อมาประมาณ 3 สัปดาห์ จำเลยโทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมที่ 3 นัดให้ไปพบที่ถนนสายบ้านมนคีรีที่เดิม โจทก์ร่วมที่ 3 ออกไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณเดิม หลังจากนั้นวันที่ 6 เมษายน 2550 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2550 จำเลยโทรศัพท์นัดโจทก์ร่วมที่ 3 ให้ไปพบที่บริเวณค่ายลูกเสือ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 ที่บริเวณดังกล่าว วันที่ 9 และ 16 มิถุนายน 2550 จำเลยนัดโจทก์ร่วมที่ 3 ให้ไปพบแล้วข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 ที่วัดเจดีย์สูง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 3 จะเห็นว่าจำเลยเพียงแต่โทรศัพท์นัดให้โจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณจุดที่นัดพบทุกครั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่อื่นอีก สอดคล้องกับที่โจทก์ร่วมที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนว่า หลังจากจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 ในครั้งแรก จำเลยพูดว่าไม่ให้นำเรื่องไปบอกใคร แล้วโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน แสดงว่าจำเลยมิได้มีการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ร่วมที่ 3 แต่อย่างใด การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า "พราก" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง 

 

         อนึ่ง  บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาส่งเสริมให้มีการพรากผู้เยาว์หรือข่มขืนกระทำชำเรากันโดยอาศัยช่องว่างหรือช่องโหว่ของกฎหมายแต่อย่างใด      เพียงแต่ต้องการนำเสนอแง่มุมความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชนทั่วไปให้มีความรู้ทางกฎหมายเพิ่มยิ่งขึ้นเพื่อจะได้ระมัดระวังตนเองหรือบุตรหลานของท่านมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,707