กรณีศึกษาจากเรื่องจริง !! สู้คดีฟ้องเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรอย่างไร ให้ศาลยกฟ้อง

กรณีศึกษาจากเรื่องจริง  !!  สู้คดีฟ้องเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรอย่างไร ให้ศาลยกฟ้อง

          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอยู่ว่า มีสามีและภรรยาคู่หนึ่งได้มีการจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน แต่ขณะสมรสกันมีบุตรอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 คน ตอนจดทะเบียนหย่านั้น ด้วยความที่ฝ่ายชายเป็นวิศวกรมีหน้าที่การงานและมีเงินเดือนค่อนข้างสูง ส่วนฝ่ายหญิงมีเงินเดือนและความสามารถในการที่จะเลี้ยงดูบุตรน้อยกว่าฝ่ายชายจึงได้ทำการตกลงในบันทึกท้ายการหย่าว่า ให้ฝ่ายชายนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นฝ่ายชายก็ได้เลี้ยงดูบุตรพร้อมทั้งส่งเสียให้การศึกษาเล่าเรียนตลอดมา ต่อมาฝ่ายหญิงได้มีแฟนใหม่เป็นชาวต่างชาติประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ย้ายไปอยู่กับสามีใหม่อยู่ที่ต่างประเทศนั้น จนกระทั่งมีหน้าที่การงานและมีความมั่นคงทางการเงินดีขึ้น จึงเดินทางกลับมาเยี่ยมบุตรที่บ้านอดีตสามี และจะขอนำบุตรไปท่องเที่ยวที่ต่างจังหวัดพร้อมกับสามีใหม่ด้วย แต่ฝ่ายอดีตสามีไม่ยินยอม ต่อมาฝ่ายอดีตภรรยาจึงเห็นว่าตนนั้นมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นและอาจจะดีกว่าฝ่ายชายและเห็นว่าตนเองนั้นอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการศึกษาที่ดีกว่าประเทศไทย จึงอยากพาบุตรไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศจึงได้ยื่นฟ้องอดีตสามีเพื่อขอเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรทั้ง 2 ต่อศาล

สำหรับคดีนี้ ผมรับหน้าที่เป็นทนายความจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี และนำสืบให้ศาลเห็นข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญว่า จำเลยไม่เคยใช้อำนาจปกครองบุตรไปในทางที่ไม่ชอบหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุตรทั้งสองแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์ไม่มีเหตุให้เพิกถอนอํานาจปกครองบุตรทั้งสองของจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1582 ผลปรากฏว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง (ดูตัวอย่างคำฟ้อง คำให้การ คำให้การพยานโจทก์ และคำพิพากษา ตามภาพกันครับ)

สำหรับการฟ้องขอเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรนั้น จะต้องมีเหตุตามกฎหมายในการร้องขอเพิกถอนอำนาจบุตรต่อศาล ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ผู้ใช้อำนาจปกครองได้ประพฤติตนไม่สมควรเช่นดื่มสุราเป็นอาจิณไม่ดูแลบุตรเท่าที่ควรเล่นการพนันเป็นประจํา เสพยาเสพติด หรือจัดการทรัพย์สินของบุตรไปในทางเสียหาย

2. พฤติการณ์ต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นผู้ใช้อำนาจปกครองต้องออกไปทำงานต่างจังหวัดจนไม่มีเวลาเพียงพอที่จะดูแลอบรมสั่งสอนบุตรผู้ใช้อำนาจปกครองตกเป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นคนวิกลจริตหรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือผู้ใช้อำนาจปกครองสมรสใหม่ และคู่สมรสใหม่กับบุตรไม่อาจอยู่ร่วมกันได้

3. ผู้ใช้อำนาจปกครองได้กระทำความผิด ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกอันเป็นการประพฤติชั่วและไม่อาจอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้อีกต่อไป

4. ผู้ใช้อำนาจปกครองได้นำทรัพย์สินของบุตรมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือเกินความจำเป็น

5. สภาพแวดล้อมต่างๆของผู้ใช้อำนาจปกครองเปลี่ยนแปลงไปเช่นบริเวณบ้านของผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่อาศัยนั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุมหรือใกล้บ่อนการพนัน หรือมีมลพิษที่ไม่ดีต่อสุขภาพและอนามัยของบุตรหรือผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้มีคู่สมรสใหม่ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ก็ตามแล้วคู่สมรสใหม่กับบุตรอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขไม่ได้เป็นต้น

ในกรณีที่เป็นการหย่าโดยความยินยอมและตกลงให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแล้วผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้ประพฤติตนไม่สมควรหรือพฤติการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีกฝ่ายหนึ่งต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้ และในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแล้วผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้ประพฤติตนไม่สมควร หรือ พฤติการณ์ต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยื่นคำร้องเข้าไปในคดีเดิมเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรศาลจะพิจารณาเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็ต่อเมื่อได้พิจารณาถึงความเหมาะสม ในด้านต่างๆดังกล่าวโดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1521

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1000/2544  โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยมีบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือท้ายสัญญาหย่าให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กรณีต้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1580 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (6)  ข้อตกลงตามสัญญาหย่าระบุเพียงให้จำเลยไปมาหาสู่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ตลอดเวลา หามีข้อตกลงให้จำเลยรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กรณีการหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด (มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง)

มาตรา 1521 ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามมาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

ชอบก็กดไลค์ ใช่ก็กดแชร์ เผยแพร่เป็นความรู้กับประชาชน และเป็นวิทยาทานให้ทนายรุ่นน้องได้ศึกษา สำหรับทนายรุ่นเก๋ามากด้วยประสบการณ์ อ่านแล้วก็ผ่านได้ครับ !! 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU




Visitors: 630,705