สัญญาก่อน และระหว่างสมรส คืออะไร ?

สัญญาก่อน และระหว่างสมรส คืออะไร ?

         ก่อนที่ชายและหญิงจะทำการจดทะเบียนสมรส เพื่อที่จะเป็นสามีภริยาโดยถูกต้องตามกฎหมายนั้น ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะทำการตกลงในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินโดยการทำเป็นสัญญาก่อนสมรส หรือสัญญาในระหว่างสมรส และแม้บางครั้งหากมีการหย่ากันเกิดขึ้น อดีตสามีภริยาเหล่านั้น ก็ยังสามารถทำสัญญาหลังสมรส ในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของพวกเขาได้
สัญญาก่อนสมรส

ในการที่จะทำสัญญาก่อนสมรสกฎหมายได้กำหนดแบบในการทำสัญญาเอาไว้ เพื่อที่จะให้มีหลักฐานชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการจัดการสินสมรสในภายหลัง โดยในมาตรา 1466 ได้กำหนดแบบเอาไว้ด้วยกัน 2 วิธีคือ
         1.ให้บันทึกข้อตกลงนั้นไว้ เป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสนั้น พร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือ
         2.ให้ทำเป็นหนังสือขึ้นมาพร้อมทั้งลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคน และแนบท้ายไว้หลังทะเบียนสมรส พร้อมกับการจดทะเบียนสมรส
หากชายและหญิงประสงค์จะทำสัญญาก่อนสมรสแต่ไม่ได้ทำตามแบบสองอย่างข้างต้น สัญญานั้นย่อมเป็นโมฆะ
ข้อควรรู้

- สัญญาก่อนสมรส ตามมาตรา 1466 ต้องกระทำก่อน หรือทำขณะจดทะเบียนสมรส หากทำหลังจากจดทะเบียนสมรส จะถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรส
คำพิพากษาฎีกา 2497/2552 เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แม้ภายหลังในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะมาขอบันทึกเพิ่มเติมว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลงจะยกให้โจทก์ บันทึกครั้งหลังนี้ก็มิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466 แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันตามมาตรา 1469 ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการสุจริต การที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอเลิกสัญญาถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่แล้ว จำเลยมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้

         - สัญญาก่อนสมรสหากไม่ได้ทำตามแบบ ที่มาตรา 1466 กำหนดไว้ มีผลทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ
คำพิพากษาฎีกา 3346/2532 สัญญาก่อนสมรสที่ผู้ร้องและจำเลยทำขึ้นมีข้อความว่า ให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรสตกเป็นสินสมรสนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยมิได้จดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำสัญญาก่อนสมรสเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ สัญญาก่อนสมรสดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวถูกโจทก์ยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287.

         -อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาก่อนสมรสจะทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ก็จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอีกด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 “ สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต “

         สัญญาระหว่างสมรส
         สัญญาในระหว่างสมรส เป็นสัญญาที่ทำขึ้นกันกันในระหว่างที่เป็นคู่สมรสกันในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีภริยาเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงเรื่องอื่นๆ อีกด้วย

         คำพิพากษาฎีกา 4744/2539 การที่โจทก์ยกที่ดินให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในระหว่างสมรส มีผลทำให้ที่ดินตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ซึ่งบันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ กรณีมิใช่การยกให้ซึ่งจะถอนคืนการให้ได้ต่อเมื่อมีเหตุเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ตามมาตรา 1469

ข้อควรรู้
-สัญญาระหว่างสมรส ตามมาตรา 1469 เป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงกันในระหว่างที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว จึงไม่ต้องนำเรื่องการให้โดยเสน่หามาใช้บังคับ
-การบอกล้างสัญญาระหว่างสมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่จะต้องไม่กระทบกระเทือนถึงบุคคลภายนอกที่สุจริต

         คำพิพากษาฎีกา 4744/2539 โจทก์ยอมให้จำเลยมีชื่อร่วมในบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งยื่นคำขอเปิดระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นคู่สมรส โดยโจทก์ตกลงยกเงินฝากที่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ในบัญชีดังกล่าวจำนวน 7,500,000 บาท ให้แก่จำเลย จึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ให้สิทธิสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกล้างสัญญาได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมการให้เงินต่อจำเลย ซึ่งเป็นการกระทำในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างตามบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม เหตุแห่งการบอกล้างนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ให้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ไม่พอใจจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมได้ ไม่ใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

- สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรส เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่สมรส ทายาทของคู่สมรสไม่อาจใช้สิทธิบอกล้างแทนได้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่สมรส // แต่หากได้มีการบอกล้างไว้ก่อนแล้ว ต่อมาคู่สมรสตายไป ทายาทของคู่สมรสมีสิทธิบังคับเอาตามการบอกล้างไว้ได้

         คำพิพากษาฎีกา 5485/2537 โจทก์เป็นผู้ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นภริยาระหว่างสมรสโจทก์มีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสในเวลาใดก็ได้ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ โจทก์มีหนังสือบอกล้างไปถึงจำเลยเป็นการบอกล้างโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว แม้สิทธิบอกล้างจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่เมื่อมีการบอกล้างโดยชอบก่อนที่โจทก์จะถึงแก่กรรมแล้วจึงไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวอีกต่อไปและย่อมตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ด้วย ทายาทของโจทก์จึงเข้าเป็นคู่ความแทนได้

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
5d7Cr3mZUt

แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,280