หนี้เดิมไม่มีหรือไม่มีหนี้อยู่จริง รับสภาพหนี้ไม่ได้

           การรับสภาพหนี้นั้น คือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ เพื่อยอมรับว่าลูกหนี้และเจ้าหนี้เป็นหนี้กันจริงและมีสิทธิเรียกร้องต่อกัน ส่งผลให้อายุความในหนี้ที่รับสภาพนั้นสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันรับสภาพหนี้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14 (1) การรับสภาพหนี้โดยลูกหนี้นั้น มีอยู่ 5 กรณี ดังนี้

1.รับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือ

2.ชำระหนี้ให้บางส่วน

3.ชำระดอกเบี้ย

4.ให้ประกัน

5.กระทำการใดๆอันเป็นการรับสภาพหนี้โดยปริยาย

          ส่วนที่นิยมทำกันนั้นมาก ก็จะเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นหนังสือนั่นเอง

อย่างไรก็ดี หากหนี้ที่นำมารับสภาพหนี้กันนั้น เป็นหนี้จากนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย หรือมีผลเป็นโมฆะ ย่อมเป็นนิติกรรมลที่ไม่ก่อให้เกิดหนี้ และเมื่อไม่มีหนี้ต่อกันแล้ว ก็ไม่อาจรับสภาพหนี้ต่อกันได้

เช่น สัญญาซื้อขายกิจการที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560) สัญญาซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2560) บันทึกข้อตกลงในส่วนที่จะถอนฟ้องในคดีอาญาแผ่นดิน(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8921/2559) สัญญาให้ช่วยวิ่งเต้นหรือดำเนินการช่วยเหลือให้เข้ารับราชการ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2560  การรับสภาพหนี้มิใช่เป็นการก่อสิทธิเรียกร้องขึ้นมาใหม่ หากไม่มีมูลหนี้เดิมต่อกันแล้วย่อมจะมีการรับสภาพหนี้ไม่ได้ การที่ผู้ร้องอ้างมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายมาจากหนังสือรับสภาพหนี้โดยผู้ร้องไม่สามารถนำสืบให้เห็นถึงมูลหนี้เดิมของหนังสือรับสภาพหนี้ได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจะซื้อจะขายตามคำร้องของผู้ร้องมีมูลหนี้ต่อกันจริง ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิบัติตามสิทธิในสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,699