ความเสียหายอันเกิดจากสัตว์

กรณีที่น้องๆ หรือลูกๆ(สัตว์เลี้ยง) ของท่านไปทำความเสียหายให้แก่เพื่อนข้างบ้าน หรือบุคคลอื่น เป็นปัญหาที่เพื่อนบ้านหลายท่านคงจะประสบ หรือเคยเจออยู่บ่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การทะเลาะกัน และเชื่อว่าท่านเองก็คงไม่อยากให้ปัญหานี้เกิดกับเพื่อนบ้านหรือคนอื่น

 

          “สัตว์หมายถึง สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ สำคัญคือต้องเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ

         

“ความเสียหายนั้นต้องเกิดขึ้นเพราะสัตว์” เช่น สุนัขของท่านไปกัดคนอื่น เห่าหอนจนเกิดความเดือนร้อนรำคาญ หรือน้องแมวของท่านปีนไปทำให้ข้าวของบ้านอื่นตกลงมาแตกพังเสียหาย ซึ่งความเสียหายนั้นอาจเกิดต่อ ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์

         

บุคคลที่ต้องรับผิด มีอยู่ 2 คน คือ

          1. เจ้าของสัตว์

          2. ผู้รับเลี้ยงรับรักษา หมายถึง ผู้ซึ่งดูแลรักษาสัตว์นั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้

         

แต่ก็มี “ข้อยกเว้น” ที่ท่านจะไม่ต้องรับผิด คือ

          1. ท่านได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิด และนิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น เช่น คนอื่นมาทำเสียงดังจนสัตว์เลี้ยงของท่านตกใจและไปทำความเสียหายให้บุคคลอื่น

          2. ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นแม้ท่านใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้นแล้ว หมายถึง ถ้าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรและความเสียหายนั้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี ท่านที่เป็นเจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาก็ไม่ต้องรับผิด

          3. ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์

         

แต่ถ้ามีคนอื่นหรือมีสัตว์ที่มีเจ้าของอื่นมาเร้า หรือมายั่วสัตว์ของท่าน(“เร้า” คือ การกระตุ้นเตือน ปลุกใจ, “ยั่ว”  คือ การพูดหรือทำให้กำเริบหรือโกรธ) จนเป็นเหตุให้สัตว์ของท่าน ไปทำความเสียหายให้แก่บุคคลอื่น ท่านที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากคนที่มาเร้าหรือยั่วหรือจากเจ้าของสัตว์ที่มาเร้าหรือยั่วก็ได้

 

มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้

 

ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น ท่านที่เป็นเจ้าของอาจจะต้องรับผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีทั้งโทษ ปรับ หรือ “จำคุก!!!

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 377 ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุ หรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,707