สัญญากู้ยืมไม่ได้ลงชื่อพยานในสัญญา ต่อมาผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงชื่อในสัญญาเป็นพยานโดยพลการ แล้วนำมาฟ้องเป็นคดีกู้ยืมต่อศาล ผู้ให้กู้จะผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่

สัญญากู้ยืมไม่ได้ลงชื่อพยานในสัญญา ต่อมาผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงชื่อในสัญญาเป็นพยานโดยพลการ แล้วนำมาฟ้องเป็นคดีกู้ยืมต่อศาล ผู้ให้กู้จะผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่

เวลาที่ท่านทำสัญญากู้ยืมเงิน ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้กู้ หรือเป็นผู้ให้กู้ แน่นอนว่าสัญญากู้ยืมเงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ซึ่งกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดรูปแบบของสัญญาให้ท่านต้องเขียนตามไว้ แต่ก็จำเป็นต้องมีรายละเอียดคราวๆ ให้พอบังคับกันได้ตามกฎหมาย เช่น กู้ยืมเมื่อใด ใครเป็นผู้กู้ ใครเป็นผู้ให้กู้ กู้เงินจำนวนเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไรต่อเดือนหรือต่อปี มีกำหนดใช้เงินคืนกันตอนไหน และที่สำคัญต้องมีลายมือชื่อผู้กู้ ไว้ในหลักฐานแห่งการกู้นั้นด้วย(ย้ำว่าต้องมีลายมือชื่อผู้กู้ ห้ามลืมเด็ดขาด!!) แต่ในบางครั้งขณะท่านทำสัญญากู้ยืมเงินกัน ไม่มีพยานมาลงลายมือชื่อเป็นพยาน วันต่อมาท่านจึงให้เพื่อนหรือคนใกล้ตัวมาลงลายมือชื่อภายหลัง

         

          คำถาม : สัญญากู้ยืมไม่ได้ลงชื่อพยานในสัญญา ต่อมาผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงชื่อในสัญญาเป็นพยานโดยพลการ แล้วนำมาฟ้องเป็นคดีกู้ยืมต่อศาล ผู้ให้กู้จะผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่

คำตอบ : การลงลายมือชื่อพยานภายหลังกู้ยืมเงินกัน แม้เป็นการเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริงโดยไม่มีอำนาจ แต่มิได้ทำให้ลูกหนี้เสียหาย เจ้าหนี้ที่ปลอมลายมือชื่อพยาน จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1126/2505

          โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงิน 80,000 บาท ให้ไว้กับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยทั้งสองได้บังอาจสมคบกันปลอมหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวโดยให้จำเลยที่ 2 เซ็นนามเป็นพยาน เป็นการกระทำเพิ่มเติมขึ้นภายหลังจากการกระทำสัญญากู้เงินกันแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสาร        

ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำที่จะเป็นผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 จะต้องเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน คดีนี้ โจทก์รับอยู่ว่า โจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ไป 80,000 บาทจริง สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญานั้นในภายหลัง ตามกฎหมายจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดดังที่โจทก์ฎีกา

          ข้อสังเกต ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 ต้องน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย ถ้าไม่น่าจะเกิดความเสียหายก็ไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบนั้นเอง

          ฎีกานี้มีปัญหาเรื่องกู้ยืม ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 การกู้เงินมากกว่า 2,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงจะเอาหลักฐานนั้นมาฟ้องลูกหนี้ได้ เราจะเห็นได้ว่าการฟ้องบังคับตามสัญญากู้จะมีลายมือชื่อพยานหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญเรื่องอำนาจฟ้อง เพียงมีผลประโยชน์ในเรื่องการสืบพยานที่ลงชื่อไว้ในเอกสารเท่านั้น ดังนี้ การลงลายมือชื่อพยานภายหลังกู้ยืมเงินกัน แม้เป็นการเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริงโดยไม่มีอำนาจ แต่มิได้ทำให้ลูกหนี้เสียหายเจ้าหนี้ที่ปลอมลายมือชื่อพยาน จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามมาตรา 264 แม้สัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิ ก็ไม่ผิด 265

 

มาตรา 264  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

          ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

 

          มาตรา 265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,705