การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่ทำให้หนี้เดิมระงับ ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด

การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่ทำให้หนี้เดิมระงับ ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด

 
การปรับโครงสร้างหนี้ คือ กระบวนการที่ยอมให้ธุรกิจของรัฐหรือของเอกชน ที่ประสบปัญหาการไหลเวียนของเงินสด และความเดือดร้อนทางการเงิน ทำการลดและต่อรองใหม่ในหนี้สินที่มีการละเมิดสัญญาตามกฎหมาย เพื่อที่จะปรับปรุงหรือทำให้สภาพคล่องกลับมาเหมือนเดิม และฟื้นฟูใหม่จนกระทั่งสามารถดำเนินงานต่อไปได้ เช่น ลดต้น ลดดอก ขยายระยะเวลา ชำระหนี้ เปลี่ยนหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว เป็นต้น โดยสามารถจะใช้วิธีใด วิธีหนึ่งหรือหลายวิธีรวมกันก็ได้
 
การแปลงหนี้ใหม่ คือ การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ ตกลงกันก่อหนี้ขึ้นใหม่ โดยมีเจตนาให้หนี้เดิมระงับไป
 
โดยเมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็น “สาระสำคัญแห่งหนี้” เช่น ทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไข เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไข หรือเปลี่ยนเงื่อนไข กฎหมายถือว่าเป็นการ “แปลงหนี้ใหม่” ทำให้หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป ดังนั้น เมื่อหนี้เดิมระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่แล้ว ผู้ค้ำประกันในมูลหนี้เดิมย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในการค้ำประกันหนี้ไปด้วย ในทางตรงกันข้ามหากเป็นการกระทำที่ไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมจึงยังไม่ระงับ ผู้ค้ำประกันจึงคงต้องรับผิดในมูลหนี้เดิมอยู่
 
ดังนั้น การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เป็นเพียงการตกลงผ่อนผันเฉพาะในส่วนของข้อตกลงในการชำระหนี้ คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาที่จะถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หรือยกเลิกหนี้เดิมที่นำมาปรับโครงสร้างหนี้ จึงมิได้เป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 หนี้เดิมจึงไม่ได้ระงับไป เมื่อหนี้ตามสัญญาเดิมไม่ระงับ ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้
 
คำพิพากษาฎีกาที่ 5249/2561
การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เป็นเพียงการตกลงผ่อนผันเฉพาะในส่วนของข้อตกลงในการชำระหนี้ โดยมีเงื่อนไขในการผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้และได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาที่จะถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือยกเลิกหนี้เดิมที่นำมาปรับโครงสร้างหนี้แต่อย่างใด จึงมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 349 หนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาสินเชื่อเดิมจึงมิได้ระงับไป และการค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ยังคงมีผลใช้บังคับและผูกพันจำเลยที่ 3 ตลอดไปในเมื่อจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
 
มาตรา 349 เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น
ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง
 
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 ,☎️ 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU

แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,589