สัญญากู้ยืมหรือแชทข้อความไม่มีคำว่า กู้ยืม ฟ้องได้หรือไม่

สัญญากู้ยืมหรือแชทข้อความไม่มีคำว่า “ กู้ยืม” ฟ้องได้หรือไม่
บัญญัติตามมาตรา 653 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีข้อสำคัญว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมตามมาตรานี้ไม่จำเป็นจะต้องถึงกับมีคำว่ากู้ยืมปรากฏอยู่ในเอกสารนั้นด้วย เป็นแต่มีเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดอันแสดงถึงการเป็นหนี้กันอยู่ก็พอแล้ว ซึ่งผู้ที่อ้างเอกสารนั้น ย่อมมีสิทธิที่จะขอสืบพยานเพื่อแสดงว่า หนี้ตามเอกสารนั้นเป็นหนี้แห่งการกู้ยืมได้ตามมาตรา 94 ปนะมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ความจริงถ้อยคำแห่งมาตรา 653 นี้เอง เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยขึ้นได้ในเรื่องนี้ เพราะในบรรดาที่กิจการที่กฎหมายบัญญัติว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้นั้น กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ดังเช่นบทบัญญัติ มาตรา 456, 538, 680 และ 851 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นต้น แต่ในมาตรา 653 เป็นพิเศษอยู่ คือ กฎหมายบัญญัติว่า ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยขึ้นดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกาก็ได้อธิบายไว้ในคำพิพากษานี้แล้วว่า ในเอกสารนั้น ไม่จำเป็นต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ด้วยก็ฟ้องร้องได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 439/2493 ซึ่งวินิจฉัยว่า
โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้โดยอ้างตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมีข้อควมแสดงแต่เพียงรับรองว่า จำเลยมีหนี้อันต้องชำระให้แก่โจทก์ โดยมีถ้อยคำชัดว่าหนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้หรือหนี้อย่างอื่น โจทก์ย่อมนำพยานหลักฐานสืบประกอบว่าหนี้นั้นเป็นหนี้กู้ได้
 
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 หาได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้อมีถ้อยคำว่า กู้ยืมเป็นหลักฐานในเอกสารนั้นไม่ เมื่อโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงความเป็นหนี้ลงลายมือชื่อลูกหนี้แล้ว และสืบพยานประกอบอธิบายได้ว่าหนี้นั้นเป็นหนี้สินแห่งการยืม เอกสารนั้นก็เป็นหนังสืออันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว สำหรับรายละเอียดเหตุผลวินิจฉัย มีดังนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้นายทีมายายิ สัญชาติญี่ปุ่น เป็นเงิน 58,000 บาท ปรากฏตามสำเนาคำแปลหนังสือค้ำประกันใช้เงินลงวันที่ 1 สิงหาคม 2488 ท้ายฟ้อง ต่อมานายทีมายายิได้ตกเป็นบุคลลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ และจำเลยเป็นผู้ควบคุมทรัพย์สินของนายทีมายายิตามกฎหมาย โจทก์ได้ขอรับชำระหนี้ จากทรัพย์สินของนายทีมายายิ จำเลยไม่ขอมจ่ายให้จึงขอให้ศาลบังคับ
 
จำเลยให้การต่อสู้ว่าเอกสารตามสำเนาท้ายฟ้องโจทก์ ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามกฎหมาย และต่อสู้ในข้ออื่นๆ อีกหลายประการ
 
ในวันชี้สองสถาน โจทก์แถลงว่า การฟ้องคดีนี้โดยอาศัยหลักฐานตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง๙งนายทียามายิทำให้โจทก์ไว้ โจทก์ถือว่าเอกสารนี้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามกฎหมาย
 
ศาลแพ่งเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินในลักษณะยืมโดยอาศัยหนังสือตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐาน แต่หลักฐานที่กล่าวนี้ไม่ได้เป็นหลักฐานแห่งการยืมเงินตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 เพราะเงินที่จ่ายกันตามเอกสารไม่ปรากฎว่าเป็นเรื่องกู้ยืม อาจเป็นเรื่องอื่นใดที่ผู้สั่งจ่ายสัญญาจะจ่ายเงินแก่ผู้ทรงตั๋ว เช่น การให้กันโดยเสน่ห์หาหรือเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลเมิดเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์จะฟ้องในลักษณะยืม เพียงแต่อาศัยเอกสารนี้เป็นหลักฐานหาได้ไม่ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยาน แล้วพิพากษาให้ยกคำฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมกับค่าทนายความ 600 บาท แทนจำเลยด้วย
 
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ต้องการแต่เพียงให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือท่านั้น มิได้กำหนดว่าต้องทำแบบหรือลักษณะใด เพราะฉะนั้น หนังสือนั้นๆ จะทำในรูปอย่างใดให้ได้ใจความว่า ได้มีการกู้ยืมเงินกันก็พอแล้ว เอกสารท้ายฟ้องโจทก์มีข้อความแสดงให้รู้ได้ชัดว่า นายทีมายายิเป็นลูกหนี้โจทก์จริง จึงถือได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แล้ว จึงควรฟังข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบต่อไป จึงพิพากษายกคำพิพากษาชั้นต้นเสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้ผู้แพ้คดีในที่สุดเป็นผู้เสีย
 
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องมีขิอความดังนี้
“กรุงเทพ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1955 ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะจ่ายเงินจำนวน 58,000 บาท (ห้าหมื่นแปดพันบาท) ถ้วน ให้แก่หม่อมเจ้า ฉันทนากร วรวรรณ เมื่อเรียกร้อง
(ลงชื่อ) ท.ทายาจิ
 
ศาลฎีกาได้พร้อมกันประชุมใหญ่ปรึกษาคดีนี้แล้วเห็นว่า ปัญหาเบื้องต้นมีว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดมาแสดง โดยอ้างว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินดังนี้แล้ว ถ้าหนังสือนั้นมีข้อความแสดงแต่เพียงรับรองว่าจำเลยมีหนี้อันพึงต้องชำระให้แก่โจทก์ โดยไม่มีถ้อยคำชัดว่าหนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้หรือหนี้อย่างอื่นแล้ว โจทก์จะนำพยานหลักฐานสืบประกอบว่าหนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้ได้หรือไม่
 
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหลักในเรื่องพยานหลักฐาน การนำสืบพยานพยายานบุคคลเพื่ออธิบายข้อความซึ่งยังไม่ชัดแจ้งในเอกสารนั้น คู่ความย่อมทำได้ เพราะมิได้ต้องห้ามโดยบทบัญญัติแห่งมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยมิใช่การสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร และมิใช่การเพิ่มเติมตัดตอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หากแต่เป็นการนำสืบว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นเป็นหนี้เกิดจากนิติสัมพันธ์อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ที่ว่า “ถ้ามได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือผู้ยืมเป็นสำคัญ” นั้น หาได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่า กู้ยืมเป็นหลักฐานในเอกสารนั้นไม่ เมื่อโจทก์ได้นำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งแสดงความเป็นหนี้สินลงลายมือชื่อลูกหนี้แล้ว และสืบพยานหลักฐานประกอบอธิบายได้ว่า หนี้สินนั้นเป็นหนี้สินแห่งการกู้ยืม เอกสารนั้นก็เป็นหนังสืออันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว
 
ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานหลักฐานในคดีนี้เสีย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าธรรมเนียมและค่าทนายในชั้นนี้ ให้ผู้แพ้คดีในชั้นที่สุดเป็นผู้รับผิด โดยให้ศาลชั้นต้นกำหนดตามที่เห็นสมควร
 
 
 
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 ,ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 ,02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @cly.cmi
หรือ คลิก https://lin.ee/hCbTQl6
สาขาขอนแก่น โทร 095-9567735 แอดไลน์ @cly.kkn
หรือ คลิก https://lin.ee/U10ElNk
5d7Cr3mZUt

แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 647,868