หลักสำคัญในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

หลักสำคัญในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
ประโยชน์ของการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในศาล ย่อมจะทำให้คดีเสร็จไปโดยไม่ต้องเปลืองเวลาเป็นความกัน และคู่ความได้รับความพึงพอใจ อีกทั้งยังเป็นการประหยัด ค่าใช้จ่ายและลดความขัดแย้งของคู่ความอีกด้วย

๑. ผู้ที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลต้องมีอำนาจทำได้โดยชอบ
๑) กรณีทนายความหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนตัวความ ศาลจะตรวจดูใบแต่งทนายความ หรือหนังสือมอบอำนาจโดยถี่ถ้วนว่ามีอำนาจทำได้หรือไม่ ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปไม่มีอำนาจประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา๘๐๑หากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยอำนาจบกพร่อง สัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่มีผลผูกพันตัวการ (0.๔๖/๒๕๐๙ (ประชุมใหญ่))
๒) กรณีผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถเป็นคู่ความ ผู้แทนโดยชอบธรรมจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต้อง
ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา๑๕๗๔, ๑๕๙๘/๓ และ๑๕๙๘/๑๘ ในท้องที่ใดซึ่งมีศาลเยาวชนและครอบครัว ต้องไปร้องขอต่อศาลดังกล่าว (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา ๑๑ (๓)) ถ้าท้องที่ใดไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลซึ่ง พิจารณาคดีนั้นอาจมีคำสั่งอนุญาตโดยไม่ต้องให้คู่ความไปร้องขออนุญาตเป็นคดีใหม่
๓) กรณีคนเสมือนไร้ความสามารถเป็นคู่ความ ผู้พิทักษ์ไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทน แต่คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๕ ไม่มีอำนาจทำโดยลำพัง
๔) คู่ความซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวหรือเด็ดขาด อำนาจประนีประนอมยอมความตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ คู่ความนั้นจึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ (ฎ.๓๒๔/๒๕๑๘)

๒. ต้องมีการประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี
๑) ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ คู่ความจะต้องตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี ซึ่งรวมถึงที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นแห่งคดีด้วย แต่จะเกินคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะว่ามาตรา ๑๓๘ ไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา๑๔๒ ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง (ฎ.๑๘๔๘/๒๕๑๖ และ ๑๔๙๒/๒๕๒๘)
๒) ถึงหากมีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความนอกประเด็นแห่งคดี ก็เป็นปัญหาใน ชั้นพิจารณา เมื่อศาลทำยอมให้และพิพากษาตามยอม คดีเสร็จสิ้นไปโดยไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาตามยอมนั้นย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา๑๔๗ มีผลผูกพันคู่ความตามมาตรา ๑๔๕ และ ต้องห้ามมิให้รื้อฟ้องกันอีกตามมาตรา ๑๔๘ ศาลหรือคู่ความฝ่ายใดจะอ้างว่าการประนีประนอมยอมความไม่ชอบหาได้ไม่ (ฎ.๑๑๑๗/๒๔๙๙ และ ๖๗๔/๒๕๑๙)

๓. สัญญาประนีประนอมยอมความในศาล หากมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยศาลแก้ไขได้ และคู่ความอาจร้องขอให้ตีความแสดงเจตนาได้
สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ถ้ามีข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามมาตรา ๑๔๓ (คร.๒๕๓๑/๒๕๓๘)
ถ้าหากมีการเขียนสัญญาประนีประนอมยอมความผิดพลาด ไม่ตรงตามเจตนาอันแท้จริงของคู่ความ เมื่อไม่อาจ ตกลงกันได้ คู่ความฝ่ายที่เสียประโยชน์ก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้ดีความแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑, ๓๖๘ (ฎ.๕๒๕/๒๕๑๖) ซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวนฟังข้อเท็จจริงประกอบการตีความแสดงเจตนาได้

กรณีที่ศาลพิพากษาให้แพ้คดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจะมาร้องขอพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างเหตุว่าลายเซ็นชื่อของจำเลยในใบแต่งทนายความของตนเป็นลายเซ็นปลอมไม่ได้(ฎ.๒๔๕๐/๒๕๒๕)

๔. ข้อตกลงนอกศาลนอกเหนือสัญญาประนีประนอมยอมความศาลไม่รับฟัง
เมื่อมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดไปแล้ว คู่ความฝ่ายใดจะอ้างว่ามีข้อตกลงนอกศาลเพื่อมิให้มีการบังคับคดีหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นมิได้ (ฎ.๔๑๗/๒๕๐๔, ๑๑๑๗/๒๕๑๑ และ ๒๗๒๕/๒๕๑๕) แต่ถ้าข้อสัญญาที่กำหนดกันไว้นั้นมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลจะบังคับให้จำเลยปฏิบัติมิได้ หากแต่เป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยจะปฏิบัติต่อกันเองตามความสมัครใจ ย่อมอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ ศาลต้องไต่สวนฟังข้อเท็จจริงว่ามีการตกลงกันนอกศาลจริงหรือไม่ (ฎ.๒๔๒๔/๒๕๑๖)

ฎ.๒๔๒๔/๒๕๑ นี้ ยังไม่ถือว่าศาลฎีกากลับแนววินิจฉัยเดิม เพราะเป็นเรื่องแยกเรื่องข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าเป็นเรื่องบังคับได้หรือบังคับไม่ได้ ถ้าหากเป็นเรื่องบังคับได้ฝ่ายใดจะอ้างว่ามีข้อตกลงนอกศาลเพื่อมิให้ถูกบังคับตามยอม ศาลย่อมไม่รับฟังและไม่จำต้องไต่สวนให้เสียเวลา แต่ในเรื่องการชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๔ การชำระหนี้ต้องทำ ณ ภูมิลำเนาของเจ้าหนี้ ฉะนั้น หากสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กำหนดให้ลูกหนี้นำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ก็ย่อมมีสิทธิชำระหนี้ ณ ภูมิลำเนาของเจ้าหนี้ได้ เมื่อมีการโต้เถียงกันว่าลูกหนี้ได้ชำระหนี้แล้วหรือไม่ ศาลน่าจะต้องไต่สวนฟังข้อเท็จจริง แต่ถ้าลูกหนี้อ้างว่าเจ้าหนี้ตกลงให้ผ่อนชำระหนี้นอกเหนือสัญญายอม ไม่จำเป็นต้องไต่สวน อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกรณีที่จำเลยบางคนและโจทก์ตกลงเกี่ยวกับการบังคับคดีไว้ล่วงหน้าก่อนพิพากษา ข้อตกลงนี้ใช้บังคับกันได้ โจทก์ต้องบังคับคดีเอากับจำเลยคนอื่นก่อนตามข้อตกลง หากมีปัญหาขึ้นมา ศาลต้องไต่สวนให้ได้ความว่า จำเลยอื่นมีทรัพย์สินพอที่จะบังคับเอาชำระหนี้ได้หรือไม่ก่อน (ฎ.๑๐๕๕/๒๕๒๖)


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 ,ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 ,02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @cly.cmi
หรือ คลิก https://lin.ee/hCbTQl6
สาขาขอนแก่น โทร 095-9567735 แอดไลน์ @cly.kkn
หรือ คลิก https://lin.ee/U10ElNk
www.closelawyer.co.th
#ทนายใกล้ตัว

5d7Cr3mZUt

แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 638,194