สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิด

สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิด

ความเป็นมา ความหมาย และทฤษฎีที่เกี่ยวกับการกําหนดค่าสินไหมทดแทน ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดกําหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องเสียหาย จากการละเมิดได้รับการเยียวยาหรือทดแทนด้วยค่าเสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายกลับคืนสู่ฐานะเดิม ก่อนที่จะมีการละเมิด หรือในกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ก็ต้องได้รับการชดเชยด้วยการอื่นที่เพียงพอต่อความเสียหาย ซึ่งค่าสินไหมทดแทนมีความเป็นมา ความหมาย ประเภทของค่าเสียหาย และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายถือว่าผู้นั้นทำละเมิดจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น (ป.พ.พ.มาตรา 420) การกระทำจะเป็นละเมิดต้องประกอบด้วยหลัก 3 ประการ

         1. กระทำต่อบุคคลอื่นโดย ผิดกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการประทุษกรรม กระทำต่อบุคคลโดยผิดกฎหมายด้วยอาการฝ่าฝืนต่อความหมายที่ห้ามไว้หรือละเว้นไม่กระทำ ในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำหรือตนมีหน้าที่ ตามกฎหมายจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นต้นว่า ฆ่าเขาตาย, ทำร้ายร่างกายเขา,ขับรถโดยประมาทชนคนตายและทรัพย์สินของเขาเสียหาย ฯลฯ
         2. กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ คือ ทำโดยรู้สำนึกและในขณะเดียวกันก็รู้ว่าจะทำให้เขาเสียหาย เช่น เจตนาฆ่าหรือเจตนาทำร้าย ฯลฯ อย่างไรก็ดี การกระทำโดยจงใจในเรื่องละเมิดถือหลักเบาบางกว่าทางอาญาสำหรับอาญานั้นต้องกระทำโดยรู้สึกสำนึกในการที่ทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลด้วยส่วนจงใจในเรื่องละเมิดบางกรณีไม่ผิดในทางอาญาแต่เป็นละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา.คำว่าประมาทเลินเล่อในทางแพ่งหมายความถึงการกระทำที่ขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายนั้นและหมายความถึงการไม่ป้องกันผลที่เกิดขึ้นโดยประมาทเลินเล่อแม้ตนเองไม่ได้กระทำให้เกิดผลนั้นขึ้นระดับความระมัดระวังของบุคคลต้องถือระดับบุคคลธรรมดา
         3. ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย โดยปกติผู้กระทำต้องรับผิดเฉพาะการกระทำของตนแต่อย่างไรก็ดีในเรื่องละเมิดถ้าได้มีการกระทำละเมิดร่วมกันหรือแม้มิได้ร่วมแต่เป็นผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิดดังนี้บุคคลเหล่านี้จะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้น
ค่าสินไหมทดแทน เกิดจากการละเมิดที่ได้รับความเสียหาย ที่พึงได้รับนั้นถ้า ตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องดำเนินการ ฟ้องร้องต่อศาล และศาลจะกำหนดค่าสินไหมทดแทนโดยจะวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด
ปกติค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ การคืนทรัพย์สินที่ผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะการละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สิน รวมทั้งค่าเสียหายพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ ที่ได้ก่อขึ้นด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
         มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
         มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการ ละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

         ฎีกาที่ 4470/2528 โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวได้จดทะเบียนให้ ส. เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ส. มีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์จากตึกแถว แต่กรรมสิทธิ์ในตึกแถวยังเป็นของโจทก์ ด้วยอำนาจการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดทำให้ตึกแถวเสียหายได้ การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างโดยไม่จำกัดแม้หนี้ดังกล่าวจะเกิดจากมูลละเมิด โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อตึกแถวของโจทก์ จึงมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ฎีกาที่ 4880/2537 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7เป็นคณะกรรมการดำเนินการของร้านสหกรณ์ ร. จำเลยที่ 8เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์ ร. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ประชุมกรรมการและเลิกจ้างจำเลยที่ 8 โดยไม่ได้จัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงิน พร้อมทั้งสินค้าคงเหลือและจัดทำงบดุลแสดงฐานะอันแท้จริงของร้านสหกรณ์ ร. การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการจงใจและประมาทเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินสินค้าขาดบัญชีโดยความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 8ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ จำเลยทั้งแปดต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าสินค้าที่ขาดบัญชี เช่นนี้ เป็นการฟ้องในมูลละเมิดที่กระทำต่อร้านสหกรณ์ ร. แม้ฟ้องโจทก์จะใช้ถ้อยคำว่าให้จำเลยชำระค่าสินค้าที่ขาดบัญชี ก็มิใช่กรณีฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน อันเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336เพราะไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ขาดหายอยู่ในความครอบครองของจำเลยทุกคนโจทก์ซึ่งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์และฟ้องคดีแทนร้านสหกรณ์จึงต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องเกินหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ

         ฎีกาที่ 4025/2545 โจทก์ฟ้องว่า การที่จำเลยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและแผงค้าของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ดังนั้นเมื่อครบกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและแผงค้าที่เช่าของโจทก์ในวันที่ 26 เมษายน 2532 และวันที่ 9 ตุลาคม 2533 แต่จำเลยเพิกเฉยอันถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์นับแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยตลอดมา อีกทั้งโจทก์ก็ทราบว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2540 จึงต้องถือว่าค่าเสียหายเกี่ยวกับที่ดินและแผงค้าที่เกิดก่อนวันที่ 24 เมษายน 2539 เกิน 1 ปี แล้วเป็นอันขาดอายุความ

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU

แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 638,187