ยืมเงินผ่านแชต ใช้เป็นหลักฐานฟ้องได้ไหม
ยืมเงินผ่านแชต ใช้เป็นหลักฐานฟ้องได้ไหม?
การทักขอยืมเงินผ่านแชต หรือแชตไลน์ สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องได้ แม้จะไม่ได้มีการทำหนังสือกู้ยืมเงิน เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม ปัญหาการยืมเงินเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวสำหรับผู้ที่ให้ยืมแล้วไม่ได้เงินกลับคืนมา ดังนั้นการทำหลักฐานให้เป็นลายลักษณ์อักษรจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการให้คนอื่นยืมเงิน
โดยทางกฎหมายแล้ว การให้ยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไปต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือ แล้วลงลายมือชื่อ ถ้าไม่ทำเอกสารหลักฐาน ก็จะฟ้องบังคับต่อศาลไม่ได้ หรือหากกู้ยืมเงินน้อยกว่า 2,000 บาท ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารก็ฟ้องร้องต่อศาลได้ (ป.พ.พ. มาตรา 653)
ปัจจุบัน “การยืมเงินผ่านแชทหรือสังคมออนไลน์” แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน ถือว่า “แชทยืมเงินเป็นสัญญาและหลักฐานการกู้ยืมเงิน” สามารถใช้เป็นหลักฐานการฟ้องคดีได้
การส่งข้อความแชททางไลน์ เฟสบุ๊ก อีเมลล์ เป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ซึ่งตามมาตรา 7 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา 8 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
มาตรา 7 ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา 8 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
มาตรา 9 ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า
(1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ
(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี
แชทจะเป็นหลักฐานอย่างไร ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
1.ข้อความแชท (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน
2.บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชทจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้
3.หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุ วันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ
หากมีหลักฐานดังที่กล่าวมา ถือเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้
ฎีกาที่ 8089/2556 การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎีกาที่ 6757/2560 เลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments