เจตนายกที่ดินให้ แต่จดทะเบียนเป็นขายฝาก จะมีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่
“นิติกรรมอำพราง”
หมายถึง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม
นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย
ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้
ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม ซึ่งกฎหมายให้บังคับตามกฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้น
เช่น
- ทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน
สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน
- ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินเพื่อเป็นการอำพรางการยกให้
นิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาให้
- ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นการอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน
นิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ โดยต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน
- ทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการ
- สัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน
คำถาม : เจตนายกที่ดินให้ แต่จดทะเบียนเป็นขายฝาก จะมีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่
คำตอบ : การที่จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือ
“ที่ดิน” เช่นเดียวกับนิติกรรมให้
ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่เท่านั้น
ถือได้ว่าการจดทะเบียนขายเป็นการทำหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ ที่ถูกอำพราง
ดังนั้น นิติกรรมการให้ที่ดิน จึงไม่เป็นโมฆะและมีผลบังคับตามกฎหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 6342/2552
ท.
มีเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยแต่จดทะเบียนนิติกรรมเป็นการขาย ดังนี้
ถือได้ว่าเป็นการจดทะเบียนนิติกรรมการขายที่ดินเพื่ออำพรางนิติกรรมให้
ดังนั้น
นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ย่อมเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
ส่วนนิติกรรมต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155 วรรคสอง
การที่ ท.
จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคือที่ดินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้
ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่เท่านั้น
ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนขายดังกล่าวเป็นการทำหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม
นิติกรรมการให้ที่ดินระหว่าง ท.
และจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะและมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155
วรรคสอง
มาตรา 155
การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ
แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น
ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments