พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ จะต้องมีพยานสองคนรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันหรือไม่

พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ จะต้องมีพยานสองคนรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันหรือไม่

 พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 นั้น มีหลักเกณฑ์สำคัญว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความทั้งหมดด้วยลายมือของตนเองเพราะเป็นการทำพินัยกรรมเองโดยลำพัง ไม่มีผู้อื่นเกี่ยวข้อง จึงไม่ต้องมีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรม กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด ลงวัน เดือน ปีและลงลายมือชื่อของตนเองด้วย ทั้งนี้เพราะแม้ผู้ทำพินัยกรรมได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว หากมีข้อโต้แย้งก็อาจพิสูจน์ลายมือเขียนหนังสือของผู้ทำพินัยกรรมได้ว่า ใช่ลายมือของผู้ทำพินัยกรรมหรือไม่ใช่

 

          คำถาม :  พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ จะต้องมีพยานสองคนรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันหรือไม่

 

          คำตอบ : ไม่ต้องมีพยานสองคนรับรองลายมือชื่อ เพราะมาตรา 1657 นั้น มีหลักเกณฑ์สำคัญว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความทั้งหมดด้วยลายมือของตนเองเพราะเป็นการทำพินัยกรรมเอง ไม่ได้บังคับให้ต้องมีพยาน 2 คน รับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกัน หรือแม้จะให้พยานลงชื่อแต่ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่ทำให้พินัยกรรมแบบเขียนขึ้นเองทั้งฉบับต้องเสียไป พินัยกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์

 

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1900/2552

          ผู้ตายได้เขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับ และลงลายมือชื่อของผู้ตายไว้แล้วส่วนที่ จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานไม่พร้อมกับพยานอีกคนหนึ่งในพินัยกรรมนั้นก็หาทำให้พินัยกรรมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 เพียงบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเขียนพินัยกรรมด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนเท่านั้น หาได้บังคับให้ต้องมีพยาน 2 คน รับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันไม่

 

          คำพิพากษาฎีกาที่ 8018/2547

          การทำพินัยกรรมอาจทำได้หลายแบบ เมื่อผู้ตายเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับโดยมีข้อความครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 กำหนด แม้จะให้พยานลงชื่อแต่ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่ทำให้พินัยกรรมแบบเขียนขึ้นเองทั้งฉบับต้องเสียไป พินัยกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นโมฆะตามรูปแบบนินัยกรรมชนิดอื่นอีกหรือไม่ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องเช่นนี้ ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713

 

          มาตรา 1657  พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน

การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

บทบัญญัติมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 641,735