หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันโดยผลของกฎหมายหรือไม่
หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด
ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันโดยผลของกฎหมายหรือไม่
ห้างหุ้นส่วนจำกัด(หจก.) ย่อมเลิกกัน ด้วยเหตุดังกล่าวต่อไปนี้
1.
เลิกกันโดยสัญญา 1055(1) - (3)
2.
เลิกกันโดยผลของกฎหมาย 1055(4), (5)
3.
เลิกกันโดยคำสั่งศาล 1057
วันนี้เราจะมาดูเหตุเลิกห้างโดยผลของกฎหมาย
ตามมาตรา 1055(5) ที่บอกว่า “เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลาย
หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนจำกัดก็เลิกกัน”
คำถาม : หุ้นส่วนผู้จัดการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกห้างหรือไม่?
คำตอบ : ไม่ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันตามกฎหมาย
เพราะจะเลิกห้างโดยผลของกฎหมายได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายไม่ใช่เพียงถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
คำพิพากษาฎีกาที่
14488/2555
คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่
1 (ห้างหุ้นส่วนจำกัดนิสาพล) ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1
ฎีกาว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1(ห้าง)
ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดห้างจำเลยที่ 1 ย่อมเลิกกันโดยผลของกฎหมาย
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น
ศาลฎีกาเห็นว่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1055(5) ประกอบมาตรา 1080
ห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมเลิกกันเมื่อห้างหุ้นส่วนผู้จัดการตายหรือล้มละลายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
แต่กรณีของจำเลยที่ 2(หุ้นส่วนผู้จัดการ) เพียงแต่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ซึ่งขั้นตอนในการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ล้มละลายนั้นเป็นขั้นตอนคนละส่วนกับการสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 ส่วนการที่ พ.ร.บ.
ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 62 บัญญัติว่า การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น
หมายความเพียงเฉพาะในเรื่องการจัดการทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลาย
แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับฐานะบุคคลเช่นดังที่บัญญัติในเรื่องการเลิกห้างหุ้นส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1055(5) ต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายไม่ใช่เพียงถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ดังนั้น ลำพังเพียงแต่จำเลยที่ 2
ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ไม่ทำให้ห้างจำเลยที่
1 ต้องเลิกตามกฎหมาย ทั้งยังปรากฏต่อศาลว่าภายหลังศาลก็ไม่ได้พิพากษาให้จำเลยที่
2 ล้มละลายเพราะจำเลยที่ 2 สามารถประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7
พิพากษาว่าห้างจำเลยที่ 1 ยังไม่เลิกกันโจทก์มีอำนาจฟ้องห้างจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว
มาตรา 1055
ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าในสัญญาทำไว้มีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน
เมื่อมีกรณีนั้น
(2) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด
เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
(3)
ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
(4) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น
ๆ ตามกำหนดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1056
(5) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย
หรือล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
มาตรา 1080 บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ
หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้
ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments