ทำสัญญากู้แทนผู้กู้เดิม แม้ไม่เคยรับเงินก็ต้องรับผิด!!
การกู้ยืมเงินเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง
มีบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้กู้” และมีบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้”
การกู้ยืมนั้นจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการ “ส่งมอบเงิน” ส่วนจะคิดดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้
มีหลายท่านถามเข้ามาว่าผมหรือดิฉันคบกับแฟน
กับผัว กับเมีย กับชู้ มาหลายเดือนหลายปี แรกๆก็ดีโลกเป็นสีชมพู
มีปัญหาอะไรก็ช่วยกันแก้จนผ่านกันมาได้ระดับหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งคนที่เราคบอยู่เลยบอกว่า
ฉันไปกู้ยืมเงินมานะจะทำธุรกิจและฉันรับเงินมาแล้วนะ หรือคนที่คบอยู่ไปยืมเงินคนอื่นมานานแล้ว(เป็นหนี้คนอื่นอยู่ก่อนแล้ว)
เลยอยากให้ท่านไปลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ให้หน่อยนะที่รัก
แล้วเหตุการณ์ต่อไปก็เหมือนในละครเลย จะอยู่ทำไมไป(หนี) ดีกว่า
คำถาม : การที่ท่านไปทำสัญญากู้ยืมเงิน โดยเป็นผู้กู้แทนผู้กู้เดิม
จะอ้างว่าไม่เคยกู้เงินหรือรับเงินไปตามสัญญากู้เงินจึงไม่ต้องรับผิดชอบตามหนังสือสัญญากู้เงินได้หรือไม่?
คำตอบ : เป็นหนี้ก็ต้องใช้นะครับ ต้องรับผิดแน่นอน แม้คนที่รับเงินไปแล้วจริงๆ จะเคยเป็นที่รักของท่าน
คำพิพากษาฎีกาที่ 4411/2555
เดิมจำเลยที่ 2
กู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งจนมีการทำสัญญากู้กัน ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 2
คิดยอดหนี้ค้างชำระแล้วจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้เงินแทนโดยจำเลยที่ 2
ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวแก่โจทก์
ถือได้ว่าเป็นการตกลงแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 2
มาเป็นจำเลยที่ 1
แม้โจทก์เคยนำสัญญากู้เงินฉบับเดิมฟ้องจำเลยที่ 2
แต่โจทก์ถอนฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงแปลงหนี้ใหม่เท่ากับจำเลยที่
1 ซึ่งมิได้เป็นผู้กู้เดิมเข้ามาเป็นผู้กู้แทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้กู้เดิม จึงถือว่าจำเลยที่
1 เป็นผู้กู้เงินและได้รับเงินไปตามหนังสือสัญญากู้เงินนั้นแล้ว
หนี้ใหม่จึงสมบูรณ์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ (จำเลยที่ 1
รับผิดตามสัญญากู้ จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน)
ถ้าอ้างว่าการทำสัญญากู้เกิดเพราะถูกตบหน้าหนึ่งที
แบบนี้เป็นการข่มขู่อันทำให้สัญญากู้เป็นโมฆียะหรือไม่?
คำพิพากษาฎีกาที่ 4411/2555
แม้จำเลยที่ 1 จะไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่า
ก่อนแจ้งมีชายไทยสองคนมาที่ทำงานของจำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่
1 ออกไปที่จอดรถและใช้มือตบหน้าจำเลยที่ 1 หนึ่งทีบอกว่า “เป็นหนี้ให้นำเงินมาใช้ด้วย” จำเลยที่ 1 เชื่อว่าสาเหตุมาจากการกู้เงินของจำเลยที่
2 และเกรงว่าจะได้รับอันตราย แต่จำเลยที่ 1 ก็ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว
ขณะเขียนจำเลยที่ 1 รู้ถึงผลที่ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวและไม่มีผู้ใดมาข่มขู่
จึงบ่งชี้ชัดว่าภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ร้ายแรง ถึงขนาดที่จะจูงใจให้จำเลยที่ 1
ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัวให้ทำหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว
จึงไม่มีผลทำให้หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 164
วรรคสอง
มาตรา 164 การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น
จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง
และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว
ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น
มาตรา 349 เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้
ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
มาตรา 350 แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น
จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้
แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่
มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น
ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ
จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments