ห้ามลูกจ้างทำงานในลักษณะแข่งขันกับนายจ้าง!!
ข้อตกลงหรือสัญญาห้ามลูกจ้างทำงานในลักษณะแข่งขันกับนายจ้าง
เปรียบเสมือนเครื่องพันธนาการอย่างหนึ่งสำหรับลูกจ้างที่ยังคงต้องมีหน้าที่ผูกพันอยู่กับนายจ้างทั้งที่สัญญาจ้างได้สิ้นสุดแล้ว
แม้ว่าสัญญาจ้างจะเกิดจากหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
แต่สัญญาจ้างแรงงานก็มักทำโดยฝ่ายนายจ้าง ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ามักทำสัญญาจ้างในลักษณะที่เอาเปรียบลูกจ้าง
โดยการทำข้อตกลงห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นหลังสิ้นสุดสัญญาจ้าง
เพื่อวัตถุประสงค์ ในการรักษาผลประโยชน์ ตลอดจนความลับทางการค้าในทางธุรกิจของตน
นายจ้าง ไม่ต้องการให้ลูกจ้างนำข้อมูลของตนไปต่อยอดกับนายจ้างใหม่
ซึ่งข้อตกลงหรือสัญญาห้ามลูกจ้างทำงานในลักษณะแข่งขันกับนายจ้างนี้
ส่งผลให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน กล่าวคือ ลูกจ้างไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้ในระหว่างระยะเวลาที่ถูกห้าม
แม้ว่าประเทศไทยจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541
มาตรา 14/1 ซึ่งเปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณา
ตรวจสอบ สัญญาจ้างแรงงาน ข้อบังคับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร
ให้ศาลใช้อำนาจในการวินิจฉัยให้สัญญาใช้ได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมก็ตาม
แต่มาตรการดังกล่าวก็เป็นแต่เพียงให้อำนาจศาลในการวินิจฉัยผลบังคับของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น
ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยาหรือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างห้ามมิให้ทำงานในลักษณะแข่งขันกับนายจ้างหลังสิ้นสุดสัญญาจ้างได้
โดยในประเทศไทย
มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อสัญญาการห้ามลูกจ้างทำงานในลักษณะแข่งขันกับนายจ้าง
ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกำหนดให้ข้อสัญญาหรือข้อตกลงการห้ามประกอบอาชีพหรือห้ามประกอบกิจการ
ที่อาจสามารถใช้บังคับได้หากการห้ามดังกล่าวมีลักษณะ
(1) ไม่เป็นโมฆะ เช่น
ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ไม่ใช่การห้ามประกอบอาชีพหรือกิจการโดยเด็ดขาดจนไม่อาจมีรายได้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้
(2) ไม่ทำให้ผู้ถูกห้ามต้องรับภาระการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือประกอบกิจการมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติจากการเข้าทำสัญญานั้น
(3) การห้ามนั้นเป็นธรรมและสมควรแก่กรณี
คำพิพากษาฎีกาที่ 1275/2543
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดว่า
ในระหว่างการจ้างงาน หรือภายใน 5 ปี
นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง
จำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์
หรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศไทย
ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
และประเทศเมียนมา(พม่า) เกี่ยวกับกิจการขนย้ายของตามบ้านฯ
เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพแข่งขันกับโจทก์
โดยจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน
มิได้ห้ามประกอบอาชีพปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาด จนไม่อาจดำรงอยู่ได้
จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
คำพิพากษาฎีกาที่2169/2557
ข้อตกลงในการห้ามจำเลย ทำงานให้คู่แข่ง
หลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย
จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด
เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงนั้นเป็นการห้ามมิให้ประกอบกิจการ
หรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการใดๆ
ดังนั้น
การที่จำเลยเข้าไปเป็นเพียงลูกจ้างของบริษัท ซ.
แม้บริษัทที่เป็นนายจ้างใหม่ของจำเลย
จะเป็นบริษัทที่แข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการ
หรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการ อันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ด้วยตนเอง
จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญา
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments