เจ้าหนี้ขายฝากต้องรู้!! ก่อนทำสัญญารับซื้อฝากที่ดิน
การขายฝากต่างกับการจำนอง
ตรงที่การขายฝากทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ คือ
การขายทรัพย์สินที่กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้รับซื้อทันที
ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ถอนเอาทรัพย์คืนภายในเวลาที่กำหนด ถ้าเลยเวลาไปแม้แต่วันเดียว
ผู้รับขายฝากหรือผู้รับซื้อฝากยึดทรัพย์สินที่ไปฝากขายได้ทันที
โดยไม่ต้องให้ศาลสั่ง
ขายฝากตามกฎหมายใหม่
หมายความเฉพาะถึง การขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นการขายฝากชนิดอื่นๆ
ไม่รวมอยู่ในความหมายของกฎหมายฉบับนี้
“เกษตรกรรม”
หมายความว่า การทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำนาเกลือ เลี้ยงสัตว์
เลี้ยงสัตว์น้ำและกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และ
“ที่อยู่อาศัย”
หมายความว่า อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างและหรือที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่อาศัยหรือเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย
ไม่ว่าจะได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการงานด้วยหรือไม่ก็ตาม
การขายฝากต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
โดยหนังสือขายฝากอย่างน้อยต้องมีชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา
รายการและลักษณะแห่งทรัพย์สินที่ขายฝากราคาที่ขายฝาก จำนวนสินไถ่(จำนวนเงินที่จะไถ่)
วันที่ขายฝาก และกำหนดวันที่ครบกำหนดไถ่
ผู้ใดจะอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะเหตุมีรายการไม่ครบถ้วนไม่ได้ และข้อตกลงใดที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายนี้
เป็นโมฆะ
ประเด็นที่เจ้าหนี้ผู้รับซื้อฝากที่ดินต้องรู้
**1. “เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 15% ต่อปี”
จำนวนสินไถ่จะกำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากก็ได้
แต่เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปี
โดยคำนวณนับแต่วันที่ขายฝากจนถึงวันครบกำหนดเวลาไถ่
ไม่ว่าในสัญญาจะมีข้อความระบุไว้เป็นประการใด
หากผู้รับซื้อฝากได้รับเงิน ทรัพย์สิน
หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ขายฝากอันเนื่องมาจากการซื้อฝาก
ให้ถือว่าเงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์
หรือค่าตอบแทนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสินไถ่ที่ได้ชำระแล้ว
2. “สัญญาขั้นต่ำ 1 ปี
แต่ไม่เกิน 10 ปี”
สัญญาขายฝากจะกำหนดเวลาไถ่ต่ำกว่า 1 ปีหรือเกิน
10 ปีไม่ได้ ในกรณีที่กำหนดเวลาไถ่ต่ำกว่า 1 ปีหรือเกิน 10 ปี
ให้ถือว่ากำหนดเวลาไถ่มีเวลา1 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี
3. ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากก่อนครบกำหนดเวลาไถ่
ให้สิทธิลูกหนี้ผู้ขายฝากนำสินไถ่มาชำระหนี้ล่วงหน้าก่อนถึงวันกำหนดไถ่ถอนได้
โดยได้สิทธิลดต้นลดดอก ฝ่ายเจ้าหนี้หรือผู้รับซื้อฝากจะคิดว่าปรับได้คล้ายๆ
กับธนาคาร เป็นค่าเสียโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ย แต่ค่าปรับต้องไม่เกิน 2% ของเงินต้น คิดจากวันที่ชำระก่อนกำหนดจนถึงวันครบกำหนดไถ่
***4. ก่อนครบกำหนด 3-6 เดือน ผู้รับซื้อฝากต้องแจ้งเป็นหนังสือลงทะเบียนให้ผู้ขายฝากทราบ
พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย
พ.ศ.2562 กำหนดให้ผู้รับซื้อฝากมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่ผู้ขายฝากให้ทราบถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่า
3 เดือนแต่ไม่มากกว่า 6 เดือน
โดยต้องทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากพร้อมทั้งแนบสำเนาสัญญาขายฝากไปด้วย
หากผู้รับซื้อฝากในสัญญาขายฝากเปลี่ยนไปไม่ใช่ผู้รับซื้อฝากเดิม ผู้รับซื้อฝากเดิมจะต้องแจ้งแก่ผู้ขายฝากว่าจะต้องไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกับใครและสถานที่ที่จะชำระค่าสินไถ่
ซึ่งหากผู้รับซื้อฝากไม่ได้แจ้งแก่ผู้ขายฝากภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือมิได้ส่งสำเนาสัญญาขายฝากให้แก่ผู้ขายฝาก
กฎหมายบัญญัติให้ผู้ขายมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากภายใน 6
เดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ตามสัญญาขายฝาก โดยชำระค่าสินไถ่ตามกำหนดเดิม
กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้รับซื้อฝากต้องกระทำไว้อย่างเคร่งครัดในการแจ้งเตือนผู้ขายฝากถึงกำหนดเวลาไถ่ล่วงหน้า
ซึ่งผลของการไม่ปฏิบัติตามส่งผลให้ระยะเวลาไถ่ที่ตกลงกันไว้ระหว่างคู่สัญญาขยายออกไปอีก
6 เดือนทันที โดยผลของกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และผู้ขายฝากจะชำระค่าสินไถ่ตามจำนวนเดิมที่ระบุในสัญญา
หมายความว่า ผู้รับซื้อฝากจะเป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่ได้รับประโยชน์จากการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญา
ซึ่งการที่ต้องแจ้งเตือนผู้ขายฝากนั้นเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่แก่ผู้รับซื้อฝาก
5. ถ้าผู้รับซื้อฝากไม่รับไถ่
ผู้ขายฝากไปวางทรัพย์ได้ที่สำนักงานวางทรัพย์หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด
หรือสำนักงานที่ดินที่จดทะเบียน เมื่อผู้ขายฝากไปวางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์แล้ว
ที่ดินที่ขายฝากกันกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายฝากทันที
ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments