ซื้อรถแทนเพื่อน ถือเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ หากเพื่อนไม่ชำระหนี้ ต้องรับผิดชำระหนี้ให้กับไฟแนนซ์แทนเพื่อน

มีหลายครั้งหลายหนที่ลูกหนี้ถูกฟ้องเพราะคำว่า “ให้ใช้ชื่อซื้อ...” ซึ่งความจริงแล้วชื่อของบุคคลนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะให้ใครยืมกันได้ หากใช้ทำแทนกันก็ต้องทำเป็นการมอบอำนาจให้ถูกต้อง ซึ่งการมอบอำนาจนั้นจะทำเป็นหนังสือหรือไม่ทำก็แล้วแต่กรณีไป ซึ่งการซื้อบ้าน หรือรถ(หากมีราคาเกิน 20,000 บาทขึ้นไป) มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ จึงต้องมอบอำนาจเป็นหนังสือด้วย

            หากมีการซื้อขายแทนกัน ด้วยการเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกแทนแล้ว ผู้เข้าทำสัญญาโดยอาศัยเครดิตและเอกสารทางการเงินของตัวเองก็จะอยู่ในฐานะตัวแทน ของผู้ครอบครอง ในลักษณะตัวแทนไม่เปิดเผยชื่อ ส่งผลให้ผู้เข้าทำสัญญาต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกด้วยตนเองด้วย

            ดังนั้น หากให้ผู้อื่นใช้ชื่อเราซื้อรถ หรือบ้าน หรือทำนิติกรรมใดก็ตามแล้ว ผู้เข้าเป็นคู่สัญญาย่อมไม่อาจอ้างปฏิเสธความรับผิดของตนกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้เลย  โดยหากตัวการไม่ยอมชำระหนี้ให้กับคู่สัญญาแล้ว ตัวแทนก็มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต่อไป

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2559 แม้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์แทนจำเลยร่วมที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยร่วมที่ 1 ก็อยู่ในฐานะเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนแสดงออกนอกหน้าเป็นตัวการไปทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ซึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 806 ตอนท้ายบัญญัติว่า “...ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่” ดังนั้น เมื่อมีการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนย่อมผูกพันและต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับโจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย จำเลยร่วมที่ 1 หาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญากับโจทก์ได้ไม่ และเมื่อจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์แล้วจะไปไล่เบี้ยเอาจากจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้อย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันต่อไป 

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 638,193