ออกเช็คมอบให้เพื่อยันยันว่าจะรักใครและจะสมรสด้วย ต่อมานำเช็คไปขึ้นเงินแล้วเช็คเด้ง ผู้ออกเช็คมีความผิดทางอาญา

         ยุคสมัยนี้ เรียกได้ว่าเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 จี การติดต่อสื่อสารกัน สามารถกระทำได้โดยง่ายและสะดวกไม่ว่าจะเป็นทางไลน์ เฟสบุ๊ก อินสตาร์แกรม หรือทวิสเตอร์ ไม่เหมือนสมัยก่อนยุค ปี 1990 สมัยนั้นคิดถึงกันชอบพอกันอยากคุยกันก็ทำได้แค่เพียงส่งจดหมายหากัน ต่างจากทุกวันนี้ ทักไลน์ทักเฟสกันไปไม่ถึง 2 วัน ก็นัดเจอกัน แล้วก็ไปทำอะไรกันก็ไม่รู้ (คิดเอาเอง) มีอยู่วันหนึ่งมีชาวบ้านโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาทีมงานทนายใกล้ตัว

          เรื่องมีอยู่ว่า ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงทำงานอยู่กรุงเทพมหานคร ฝ่ายชายทำงานอยู่ชั้น 15 ในตำแหน่งผู้บริหาร ส่วนฝ่ายหญิงเป็นเลขา ทำงานอยู่ชั้น 10 อยู่คนละบริษัทแต่อยู่ตึกเดียวกัน เริ่มต้นจากฝ่ายชายให้เพื่อนเข้ามาขอไลน์ของฝ่ายหญิง จนได้มีการพูดคุยรู้จักและสนิทสนมกันไปทานอาหารกลางวันกันบ้าง บางวันฝ่ายชายไปส่ง ฝ่ายชายพูดมาโดยตลอดว่าชอบฝ่ายหญิงมาก อยากจะมาสู่ขอ นี่แหละแม่ของลูก ฝ่ายหญิงก็โสดด้วย ทั้งสองคนจึงตกลงคบหากัน ทั้งสองคนคบหากันมา 1 ปี ฝ่ายหญิงก็เริ่มทวงสัญญาว่าไหนจะมาสู่ขอ ฝ่ายชายก็อ้างต่างๆนาๆ ไม่พร้อมบ้าง ยังไม่มั่นคงบ้าง (...กันแล้วก็งี้แหละ) แต่ฝ่ายชายก็คงไม่พร้อมจริง ๆ เลยเอ่ยปากพูดกับฝ่ายหญิงว่า “เอางี้ เพื่อเป็นยืนยันว่าพี่จะทำแต่งงานจดทะเบียนสมรสด้วย” เดี๋ยวพี่จะเซ็นเช็คไว้ให้ จำนวน 500,000 บาท ลงวันที่ล่วงหน้า 6 เดือน ไว้เมื่อพร้อมและมีเงินค่าสินสอดเมื่อไหร่ จะมาสู่ขอตามสัญญา ต่อมาเมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไป 6 เดือน ฝ่ายหญิงก็ทวงสัญญากับฝ่ายชายอีก แต่กลับถูกฝ่ายชายปฎิเสธที่จะสมรสด้วย ทำให้ฝ่ายหญิงโกรธและได้นำเช็คไปขึ้นเงิน ปรากฏว่า ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย”  ฝ่ายหญิงจึงได้โทรมาปรึกษาว่า จะทำอย่างไรดี สามารถดำเนินคดีกับฝ่ายชายได้หรือไม่

          จากกรณีดังกล่าว การที่ฝ่ายชายสั่งจ่ายเช็คจำนวน 500,000 บาท ให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อยืนยันว่าจะรักใคร่และจดทะเบียนสมรสด้วยในภายหน้า หนี้ดังกล่าวถือเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับกันได้ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศิลธรรมอันดีแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเช็คถูกธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ฝ่ายชายจึงมีความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งได้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดันี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3814/2533

จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อยืนยันว่า จำเลยรักใคร่โจทก์ จำเลยจะสมรสกับโจทก์เป็นการให้เงินตามเช็คแก่โจทก์โดยมีมูลหนี้บังคับกันได้ การออกเช็คพิพาทของจำเลยในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ออกเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาเชียงใหม่ เลขที่ 2869325 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2529 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท มอบให้โจทก์โดยเสน่หา เพื่อตอบแทนในการที่โจทก์ยอมสมรสกับจำเลย ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2529 โจทก์นำเช็คนั้นไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 6 เดือน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระ โจทก์ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยฎีกาในข้อนี้ว่า การที่โจทก์รับเช็คพิพาทจากจำเลยไว้นั้นเป็นการรับสินจ้างตอบแทนในการที่โจทก์ให้จำเลยร่วมประเวณี การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์มีอาชีพรับราชการครู ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีความประพฤติเสื่อมเสียในทางเพศกับชายอื่นทั่วไป ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นสินจ้างตอบแทนในการที่โจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีดังที่จำเลยอ้าง สำหรับสาเหตุที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้นได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่าจำเลยรักใคร่ชอบพอโจทก์ ในคืนที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้น จำเลยบอกว่ารักโจทก์ จะไม่หลอกลวงและจะไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ของโจทก์ในเร็ววัน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจำเลยรักโจทก์จริงจำเลยจึงออกเช็คพิพาทให้ไว้ และเมื่อจำเลยมอบเช็คพิพาทให้โจทก์แล้วจำเลยได้บอกโจทก์อีกด้วยว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินส่วนตัวที่เก็บสะสมไว้ หากจำเลยไม่รักจริงก็จะไม่ยอมให้โจทก์ ที่ให้เช็คพิพาทแก่โจทก์ก็ด้วยความรักและเสน่หา ต้องการให้โจทก์เป็นภรรยาจำเลย นอกจากนี้คดียังได้ความจากคำเบิกความของนางบัว จันทร์ตา มารดาของโจทก์และนางต๋า ดาเขียว พยานโจทก์อีกว่า จำเลยเคยไปพูดจาทาบทามสู่ขอโจทก์กับนางบัว ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีภริยาและบุตรแล้ว ก็คงมีแต่คำเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อยืนยันว่าจำเลยรักใคร่โจทก์ จำเลยจะสมรสกับโจทก์ จึงเป็นการให้เงินตามเช็คแก่โจทก์โดยมีมูลหนี้บังคับกันได้ การออกเช็คพิพาทของจำเลยในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช็คพิพาทที่จำเลยออกให้แก่โจทก์จึงเป็นเช็คที่ออกโดยชอบ จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็ค ดังนั้น เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คได้นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายและลายมือชื่อจำเลยในเช็คพิพาทไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง"

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 641,735