ตกทอง เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
"ตกทอง" เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
แก๊งตกทอง
เป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่ทำมาหากินโดยวิธี แกล้งทำสร้อยทองคำ (ปลอม) ตกอยู่ตามย่านชุมชน
หรือตลาด ทำทีเป็นว่าพบพร้อมเหยื่อที่เล็งไว้ จำเป็นต้องเอาทองคำมาแบ่งกัน
แต่ไม่มีเวลานำไปขาย จึงแนะนำให้เหยื่อ ถอดเครื่องประดับหรือเงิน
ซึ่งดูแล้วน่าจะน้อยกว่าทองคำที่พบเจอหลายเท่ามาให้มิจฉาชีพ
กว่าจะรู้ว่าเป็นทองปลอม มิจฉาชีพก็หายตัวพร้อมเครื่องประดับหรือเงินของเหยื่อไปไกลแล้ว
วิธีการเช่นนี้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนในประเทศไทยอยู่บ่อยๆ แม้กระนั้น
ก็ยังคงมีผู้เป็นเหยื่ออยู่เสมอ เหยื่อบางคนบอกว่าเหมือนป้ายยา
หรือถูกสะกดจิตทำให้รู้สึกมึนงง
ถอดเครื่องประดับหรือมอบเงินให้มิจฉาชีพไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งตามกฏหมายประเทศไทย
ถือเป็น ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 บัญญัติว่า
"ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000.-บาท หรือตามมาตรา 335 แล้วแต่กรณี มิใช่ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งในเรื่องนี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นตัวอย่าง ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12338/2555
จำเลยทำทีเป็นเก็บกระเป๋าสตางค์ได้
โดยพวกของจำเลยถามจำเลยว่าในกระเป๋ามีทองเต็มใช่หรือไม่
จำเลยเปิดกระเป๋าสตางค์ออกดู ผู้เสียหายมองเห็นทองรูปพรรณในกระเป๋า 3 ถึง 4 เส้น จำเลยพูดว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท แต่อย่าบอกผู้ใด
และบอกให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ในห่อผ้าเช็ดหน้า
แล้วผูกผ้าเช็ดหน้าให้ผู้เสียหายถือไว้และให้ยืนรอ โดยจำเลยจะนำเงินมาให้
ผู้เสียหายรออยู่ 1 ชั่วโมง จำเลยไม่กลับมา
ผู้เสียหายแกะห่อผ้าเช็ดหน้าออกดู พบว่ามีเงินเหรียญบาท 32 เหรียญ ดังนี้จำเลยกับพวกมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก
การที่จำเลยหลอกลวงว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท
และให้ถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้
ล้วนเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหาย
แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อ
แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้มีเจตนาส่งมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องให้แก่จำเลย
สาเหตุที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้
เชื่อว่าเกิดจากการสับเปลี่ยนห่อผ้าเช็ดหน้า
ซึ่งเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม
ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก
แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและลักทรัพย์ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้
ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้
แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยให้เป็นไปตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และ 225
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments