ผู้รับซื้อฝาก กำหนดราคาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากสูงเกินไป ผู้ขายฝากเลือกไถ่ทรัพย์ในราคาที่ขายฝากได้

          ในการซื้อขายกันนั้น หากเป็นการซื้อขายกันตามปกติแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ก็ย่อมโอนไปเป็นของผู้ซื้อ แม้ผู้ขายจะใช้สิทธิการซื้อคืนก็ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้บังคับให้ผู้รับซื้อดำเนินการโอนให้ และผู้ซื้อฝากก็สามารถกำหนดราคากันเองตามตกลงได้ โดยไม่มีกฎหมายต้องห้าม และไม่จำเป็นต้องเป็นราคาตลาด หรือราคาเดียวกันกับที่ได้ซื้อมาแต่อย่างใด

          ส่วนการขายฝากนั้น แม้จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้ซื้อทันทีเหมือนการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่ลักษณะพิเศษของการขายฝากนั้นคือสิทธิของผู้ขายฝาก ที่จะขอไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากไว้ได้ภายในกำหนดระยะเวลา และผู้ซื้อฝากก็มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องคืนทรัพย์ให้กับผู้ขายฝากเมื่อได้รับชำระสินไถ่ครบถ้วนแล้ว

โดยสินไถ่นั้น แม้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ซื้อได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เหมือนกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินก็ตาม แต่หากปรากฎว่าในเวลาไถ่ สินไถ่หรือราคาที่กำหนดนั้น สูงกว่าราคาที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ผู้ขายฝากก็อาจเลือกไถ่ได้ในอัตราราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี แทนการชำระราคาขายฝากที่ได้ตกลงกันไว้ตอนแรกก็ได้เช่นกัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559

          น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีจึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี 

          อนึ่ง การขายฝากไม่ใช่การกู้ยืมเงิน เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามกำหนดดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์ตอบแทนเกินร้อยละสิบห้าต่อปี การกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็สามารถกระทำได้ และการชำระดอกเบี้ยในระหว่างอยู่ในระยะเวลาไถ่นั้น เมื่อดอกเบี้ยถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนอย่างหนึ่ง และสัญญาขายฝากให้คิดเอาผลประโยชน์ตอบแทนรวมไปกับราคาขายฝาก โดยไม่มีกฎหมายระบุให้คิดดอกเบี้ยซ้ำอีกได้ การชำระดอกเบี้ยระหว่างนั้น จึงถือว่าเป็นการชำระราคาขายฝากบางส่วนนั่นเอง (กล่าวโดยสรุปคือ ดอกเบี้ยส่วนที่เกินร้อยละ 15 ให้ถือว่าเป็นการชำระสินไถ่)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 410/2510

          เมื่อคู่สัญญาระบุจำนวนเงินราคาขายฝากไว้โดยไม่ระบุสินไถ่อีกผู้ขายฝากก็ไถ่ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้นั้นซึ่งแม้ผิดกับราคาขายฝาก ก็มีผลเช่นเดียวกับระบุสินไถ่ไว้สัญญาขายฝากไม่เป็นโมฆะการกำหนดสินไถ่ไม่ใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่ขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 ไม่ผิดพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 อัตราค่าเช่านั้นกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2541

          การที่โจทก์ผู้รับซื้อฝากคิดดอกเบี้ยจาก ส.ผู้ขายฝากและจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นภริยาและบุตรของ ส. เมื่อ ป.พ.พ.มาตรา 499 บัญญัติให้กำหนดสินไถ่กันไว้ได้ การที่โจทก์ตกลงกับ ส.และจำเลยทั้งสองให้ชำระดอกเบี้ยในระหว่างอายุสัญญาขายฝาก จึงเป็นการกำหนดให้ ส.และจำเลยทั้งสองชำระสินไถ่ให้โจทก์ทั้งสองบางส่วนนั่นเอง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2522

          ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 บาท 75 สตางค์ต่อเดือน เป็นอัตราเกินกว่ากฎหมายกำหนดในการเรียกดอกเบี้ยก็ตาม แต่เมื่อนำผลประโยชน์ที่เรียกมารวมกับเงินค่ารับซื้อฝากที่จำเลยให้โจทก์ไปแล้วย่อมกลายเป็นสินไถ่ซึ่งในสัญญาขายฝาก คู่สัญญาจะกำหนดสินไถ่โดยเรียกผลประโยชน์รวมไปกับเงินต้นเท่าใดก็ได้ โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 499 อนุญาตไว้ และคู่สัญญาย่อมตกลงผ่อนชำระสินไถ่กันได้ การผ่อนชำระเงินต้นของโจทก์ย่อมมีผลเท่ากับผ่อนชำระสินไถ่บางส่วนนั่นเอง

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 641,735