ถูกแจ้งชื่อในสูติบัตรว่าเป็นบิดา แต่แท้จริงไม่ใช่บิดาและไม่ได้เป็นคนแจ้งเกิด สามารถฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้
เด็กที่เกิดย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงซึ่งเป็นมารดานั้น
ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 แต่สำหรับฝ่ายชายนั้นในกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 มาตรา 1537 หรือมาตรา 1538 ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้
โดยฟ้องเด็กกับมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด
หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1539
กรณีฝ่ายชายฟ้องคดีเอง
เด็กที่เกิดระหว่างสมรส หรือภายใน 310 วันนับแต่การสมรสสิ้นสุดลง
เด็กที่เกิดจากการสมรสของหญิงหม้ายที่สมรสใหม่ก่อนครบกำหนด 310 วันนับแต่วันที่ขาดจากการสมรสเดิม หรือเด็กที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะ
ซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีนั้น
สามีมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเป็นบุตรของตนได้ โดยการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
โดยวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 1539 ดังนี้
ก. ถ้าเด็กและมารดาเด็กยังมีชีวิตอยู่
ต้องฟ้องเด็กและมารดาเด็กเป็นจำเลยร่วมกัน
ข. ถ้ามารดาเด็กไม่มีชีวิตอยู่แล้ว
จะฟ้องเด็กผู้เดียวเป็นจำเลยก็ได้
ค. ถ้าเด็กไม่มีชีวิตอยู่แล้ว
ไม่ว่ามารดาเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่
ให้ใช้วิธียื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าเด็กนั้นไม่ใช่บุตรของตน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547 ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์
การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร
โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา
อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์
ข้อยกเว้นห้ามชายฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรไม่ได้ฃ
ถ้าปรากฏว่าตนเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน
หรือจัดหรือยอมให้มีการแจ้งดังกล่าว ตามมาตรา 1541
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2542 บทบัญญัติตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1541 หมายถึงชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1539 ซึ่งเป็นกรณีที่สันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา 1536 และ 1537 หรือมาตรา 1538 โจทก์เป็นบุตรของร.และอ.ซึ่งมีตัวตนแน่นอน ส.และ สค.
ไม่ใช่บิดามารดาผู้ให้กำเนิดโจทก์โดยแท้จริง การที่
ส.ไปแจ้งการเกิดลงในสูติบัตรของโจทก์ว่า บิดาโจทก์เป็นคนไทย
มารดาเป็นคนกัมพูชาเมื่อมีบุตรขึ้นมาก็แจ้งเกิดไม่ได้ ส.
จึงรับสมอ้างไปแจ้งเกิดแทน โดยระบุว่าเป็นบิดาดังนี้
เป็นคนละเรื่องกับกรณีการแจ้งเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1541 เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของ ส.
จึงไม่ใช่บุตรนอกกฎหมายตามความเป็นจริงที่บิดาได้รับรองแล้ว ทั้งไม่ใช่
ผู้สืบสันดานและไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 และ 1629(1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ
ส. ผู้ตาย และไม่มีอำนาจฟ้อง
ระยะเวลาในการฟ้องคดี
มาตรา 1542 "การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก
แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก
ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา 1537 หรือชายผู้เป็นสามีในการสมรสครั้งหลังตามมาตรา 1538 ถ้าชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีซึ่งต้องด้วยบทสันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนตามมาตรา 1536 ประสงค์จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
ให้ฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด"
กรณีทายาทผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีแทน
ตามมาตรา 1544 ให้อำนาจทายาทผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีแทนชายได้
หากชายได้ถึงแก่ความตายไปก่อน
แต่บุคคลเช่นว่านี้ต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก
และจะฟ้องได้เฉพาะใน 2 กรณีดังนี้ คือ
(1) ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะพึงฟ้องได้
(2) เด็กเกิดภายหลังการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี
ทั้งนี้ การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (1) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี
และการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (2) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการเกิดของเด็ก
แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใด ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก
กรณีการฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
เป็นกรณีที่เด็กปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีของมารดาตนได้
ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1545 ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่บุตรฟ้องบุพการี
เป็นคดีอุทลุม จึงฟ้องเองไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 1562 เด็กจะต้องร้องขอให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดีแทน
ซึ่งต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่บรรลุนิติภาวะ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments