รถแท็กซี่ก่อความเสียหาย อู่/สหกรณ์ต้องรับผิดร่วมด้วย

        อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน  ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ หากคู่กรณีก็อาจให้พนักงานสอบสวนในสายงานจราจรวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นได้ ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายยอมรับการวินิจฉัยชี้ขาดของตำรวจแล้ว ก็จะมีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับคู่กรณีฝ่ายที่ผิดต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของการกระทำความผิดทางอาญา แต่สำหรับในทางการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่งนั้น เป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องไปว่ากล่าวกันเองอีกทางหนึ่งในมูลละเมิด ซึ่งหากคู่กรณีเป็นรถแท็กซี่ หรือรถโดยสารสาธารณะ หรือรถในกิจการขนส่งต่างๆแล้ว นอกจากจะสามารถเรียกให้คนขับรับผิดเป็นการส่วนตัวได้แล้ว ผู้เสียหายก็สามารถให้บุคคลภายนอกรับผิดในค่าเสียหายร่วมกับคนขับได้อีกด้วย  โดยเป็นไปตามนัยคำพิพากษาฎีกาดังนี้

          [คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558] เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า "สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก" ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน

          [คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2550] รถแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 มีชื่อและตราของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ที่ประตูรถทั้งสองด้าน คนทั่วไปที่ได้พบเห็นจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการรับบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 638,187