หมิ่นประมาทผู้ตาย...อาจจะติดคุกได้
ต้องบอกว่าเวลานี้ ไม่มีข่าวไหนโด่งดังเท่ากับข่าว
“เปรี้ยว” อีกแล้ว จากกรณีมีข่าวตกเป็นผู้ต้องหากับพวกรวม 5 คน
ในคดีฆ่าหั่นศพน้องแอ๋ม สาวคาราโอเกะ ที่จังหวัดขอนแก่น ล่าสุดแม่น้องแอ๋ม
แจ้งความเอาผิดพี่สาว "เปรี้ยว" หัวหน้าทีมสวยหั่นศพ
ในข้อหาหมิ่นประมาทแล้ว
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ!! ในเมื่อน้องแอ๋มเสียชีวิตไปแล้ว
การใส่ความน้องแอ๋มผู้ตายนั้น ไม่น่าจะมีความผิดทางอาญา เพราะน้องแอ๋มเป็นผู้ถูกใส่ความ
ไม่มีตัวตนไม่มีสภาพบุคคลแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่อย่างคิดครับ
เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้ตายเป็นผู้เสียหาย วันนี้
ทีมทนายใกล้ตัวจะไขข้อสงสัยให้ท่านไปทราบพร้อมๆกันครับ
การใส่ความผู้ที่เสียชีวิตหรือผู้ตายต่อบุคคลที่สาม
อาจจะยังไม่ต้องรับความเสียหาย แต่แค่น่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา
คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตาย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง
ก็ถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 ระวางโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 คือ
จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าการหมิ่นประมาทนั้นเป็นการโฆษณาออกสื่อต่างๆ
หรือเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง ผู้นั้นมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ตามมาตรา 328
และที่มากไปกว่านั้นผู้ที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการหมิ่นประมาทเป็นจำนวนค่อนข้างสูงเสมอไว้ก่อน
แต่ศาลจะใช้ดุลยพินิจกำหนดให้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่นำมาสืบให้ศาลเห็นว่าตนได้รับความเสียหายอย่างไร
และเท่าใด ฉะนั้น เวลาจะเรียกค่าเสียหาย ก็ขอให้เรียกเอาแต่พองาม ให้สมเหตุสมผล
มิใช่นึกอยากจะเรียกเอาเท่าไหร่ก็เรียก เช่น เรียก 5 ล้าน 10 ล้าน อย่างนี้
ต้องสืบพยานหนักกันเลยทีเดียว ว่าเสียหายถึงขนาดนี้จริงหรือไม่
จากประสบการณ์หลายกรณีที่ผู้เขียนเห็น เช่น ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 5 ล้าน
ศาลพิพากษาให้ 5 หมื่น ก็มี ฟ้อง 3 แสน ศาลให้ 3 หมื่นก็มี ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่เรานำสืบและดุลพินิจของศาล
ซึ่งหากท่านฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายมากเท่าไหร่ ผลพวงที่ตามมากับท่านคือ
ค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ที่ต้องชำระแก่ศาล เช่น ฟ้อง 10 ล้าน
ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล 2 แสนบาท เรื่องนี้ สำคัญต้องพิจารณาให้ดี
ไม่ใช่นึกอยากจะได้เท่าไหร่ก็ฟ้องเอาเท่านั้น !!
การใส่ความ หมายถึง การยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นความจริงก็ได้ หรือเป็นความเท็จก็ได้ แม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินมาให้กับบุคคลอื่นฟังก็อยู่ในความหมายของคำว่า "ใส่ความ" และการใส่ความนั้น จะต้องมีเจตนาทำให้ผู้ถูกใส่ความถูกดูหมิ่น
หรือถูกเกลียดชังได้ ดังนั้น คำพูดของคนจึงสำคัญยิ่งนัก เพราะพูดไม่คิด
อาจติดคุกได้ อย่าต้องให้เป็นดั่งสุภาษิตไทยที่ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก”
ปากจะพาซวย พาติดคุก พาเสียเงิน ตอนยังไม่พูดเราเป็นนาย
แต่เมื่อพูดไปแล้วเราเป็นบ่าว ต้องพึงระวังคำพูดกันด้วนนะครับ
อย่างไรก็ดี ความผิดฐานหมิ่นประมาทนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้
ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน
นับแต่รู้เรื่องกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีขาดอายุความ
และในทางกลับกัน หากมีการแจ้งความหรือดำเนินคดีแล้ว ต่อมามีการเจรจาตกลงกันได้
ผู้เสียก็สามารถถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องได้เช่นเดียวกัน
ตามประมวลกฎหมายอาญา มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม
โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา
มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี
ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง
หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง
หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments