ผู้ใดครอบครองที่ดินผู้อื่นเกิน 10 ปี แต่โฉนดที่ดินเพิ่งออกไม่ถึง 10 ปี ผู้นั้นไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์

       ปัญหาเรื่องการครอบครองปรปักษ์ที่ดินนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีคดีขึ้นสู่ศาลเยอะมาก ท่านใดก็ตามหากประสบปัญหานี้อยู่ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า เดิมที่ดินซึ่งเป็นของบุคคลอื่นที่ท่านได้ครอบครองอยู่นั้นเป็นที่ดินมือเปล่า หรือเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ เช่น ส.ค.1 , น.ส.3ก หรือ เอกสารสิทธิ์อย่างอื่น ต่อมาได้มีการออกโฉนดที่ดินในภายหลัง การนับระยะในการครอบครองปรปักษ์นั้น จะต้องนับตั้งแต่เวลาออกโฉนด โดยจะนำระยะเวลาการครอบครองในขณะที่เป็นที่ดินมือเปล่าหรือที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองมารวมด้วยไม่ได้ กล่าวคือ นับแต่ออกโฉนดเมื่อใด หากปรากฏว่ามีการครอบครองโดยสงบ และเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของครับ 10 ปี แล้วนับแต่ออกโฉนด ก็ถือว่าครอบครองปรปักษ์  ทำให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 แต่หากครอบครอบที่ดินมีโฉนดไม่ครบ 10 ปี ก็ไม่ทำให้ผู้ครอบครองนั้นได้สิทธิในการครอบครองปรปักษ์ ได้เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น

        ยกตัวอย่างเช่น  นาย ก. ครอบครองที่ดินของนาย ข. ซึ่งเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมาจนถึงปี พ.ศ.2551 ในระหว่างครอบครองอยู่ ใน ปี พ.ศ.2545 ที่ดินดังกล่าวได้ออกเป็นโฉนดแล้ว   เช่นนี้ หากปี พ.ศ.2551  นาย ก. ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินต่อศาล ศาลจะต้องยกคำร้อง เพราะนาย ก. ยังครอบครองที่ดินมีโฉนดไม่ครบ 10 ปี นาย ก. จะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ได้ต่อเมื่อครบ 10 ปี นับแต่มีการออกโฉนด คือ ปี 2555  มาดูตัวอย่างจริงจากคำพิพากษาศาลฎีกากันครับ

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3128/2538

        การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382จะมีได้เฉพาะที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเท่านั้นที่ดินพิพาทเพิ่งออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่30กรกฎาคม2530การที่โจทก์ครอบครองก่อนหน้านี้แม้จะเกิน10ปีก็ ไม่ได้ กรรมสิทธิ์ เมื่อ นับระยะเวลาตั้งแต่วันออกโฉนดที่ดินพิพาทถึงวันฟ้องโจทก์ครอบครองยังไม่ครบ10ปีโจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3368/2538

        ที่ดินที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นที่ซึ่งบุคคลอื่นมีกรรมสิทธิ์อยู่เมื่อขณะ ซื้อขายผู้ขายมีแต่ สิทธิครอบครองที่พิพาทโดยทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินให้ภายหลังระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์จึงต้องเริ่มนับเมื่อทางราชการออกโฉนดที่ดินให้เมื่อนับถึงวันยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ไม่เกิน10ปีผู้ร้องจึง ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8393/2540

        ตราบใดที่ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ย่อมครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ จะครอบครองปรปักษ์ได้ต่อเมื่อเป็นที่ดินมีโฉนด เพราะที่ดินมีโฉนดเท่านั้นที่บุคคลอาจมีกรรมสิทธิ์ได้ ดังนี้ ระยะเวลาการเริ่มครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทมีโฉนด ที่ดินพิพาทผู้ร้องครอบครองจนถึงวันยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อศาลเพิ่งออกโฉนดมายังไม่ถึง10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ผู้ร้องคงมีเพียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเท่านั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่งการที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7701/2544

        จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันออกโฉนดที่ดินยังไม่ถึง10 ปี แม้ว่าจำเลยจะครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของก็ตาม จำเลยก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ และจำเลยจะนับระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดที่ดินรวมเข้าด้วยกันหาได้ไม่ เพราะการที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ใช้ได้แต่เฉพาะที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น

 

        ดังนั้น หากใครที่ประสบปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้วกำลังจะยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินโดยที่โฉนดที่ดินยังออกไม่ครบ 10 ปี ให้หยุดการกระทำไว้ทันทีครับ รอครบ 10 ปี ค่อยยื่นคำร้องต่อศาล เพราะหากยื่นไปก็มีแต่จะแพ้กับแพ้ และยังทำให้เจ้าของที่ดินรู้ตัวด้วยว่าท่านกำลังจะแย่งที่ดินไปจากเขา หากท่านแพ้คดีขึ้นมา ท่านอาจจะถูกโต้แย้งและก่อการรบกวนสิทธิจากเจ้าของที่ดิน และอาจถูกฟ้องขับไล่ด้วยนะครับ

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,717