งานลิขสิทธิ์ใดที่ไม่จดทะเบียน จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ ?
งานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์นั้น
กฎหมายให้ความคุ้มครองตั้งแต่สร้างสรรค์
หรือผลิตผลงานนั้นอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องไปยื่นเพื่อจดทะเบียนให้ได้รับความคุ้มครองเหมือนกับสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า
แต่ถ้าหากเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์รายใด ต้องการให้มีหลักฐานทางทะเบียน
ก็สามารถดำเนินการจดแจ้งลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา
เพื่อกีดกันผู้อื่นไม่ให้มาคัดลอก จำหน่าย นำออกแสดง หรือเผยแพร่ หรือดัดแปลง
งานอันมีลิขสิทธิ์ของตนโดยปราศจากความยินยอมได้ เช่นกัน แต่การจดแจ้งนี้
เป็นเพียงการสร้างพยานหลักฐานว่าผู้จดแจ้งเป็นผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น
ส่วนความคุ้มครองนั้น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ให้ความคุ้มครองตั้งแต่มีการนำงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นออกโฆษณา
จนกว่าผู้สร้างสรรค์จะถึงแก่ความตาย และต่อเนื่องไปอีก 50 ปี หลังจากผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย หรือในกรณีเป็นนิติบุคคล
งานอันมีลิขสิทธิ์ที่นิติบุคคลนั้นทำขึ้น ก็จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่วันที่นำงานดังกล่าวออกโฆษณา
กล่าวโดยสรุปคือ แม้ไม่ได้มีการจดแจ้ง
หรือจดทะเบียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนไว้ ผู้สร้างสรรค์ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายตั้งแต่แรกอยู่ก่อนแล้ว
สามารถฟ้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของตนได้โดยสมบูรณ์
ภายในช่วงเวลาที่อยู่ในระยะการคุ้มครอง แต่ถ้าผู้สร้างสรรค์รายใด
ต้องการหลักฐานทางทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็สามารถยื่นขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เช่นกัน
งานใดบ้าง
ที่ลิขสิทธิ์ไม่ให้ความคุ้มครอง?
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ได้ให้ความคุ้มครองงานไว้หลายประเภท
ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรม นาฎกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัศดุ
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีงานอีก 5 ประเภท ที่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วย ดังต่อไปนี้
(1) ข่าวประจำวัน
และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี
แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ
และกฎหมาย
(3) ระเบียบ
ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม
หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา
คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง
ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง
ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
ข่าวประจำวัน
และข้อเท็จจริงแบบใด ที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
ข่าวที่ไม่ได้รับความคุ้มครองนั้น
ต้องเป็นข่าวสารประเภทที่ไม่ใช่งานในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
และต้องเป็นข่าวที่มีลักษณะเพียงรายงานข้อเท็จจริงเท่านั้น เช่น รายงานอุบัติเหตุ
รายงานสถานการณ์บ้านเมือง หรือข่าวภัยธรรมชาติ แต่หากเป็นข่าวประเภท วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ
วิเคราะห์แนวโน้มหุ้น
ประเภทนี้ถือเป็นข่าวที่เกิดจากการใช้วิชาความรู้ความเข้าใจในเชิงสถิติ
ย่อมมีผลเป็นงานแผนกวิทยาศาสตร์ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
แบบใดที่ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
รัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น
เป็นสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้มีการเปิดเผยให้ประชาชนทราบ ดังนั้นแล้ว
กฎหมายทุกฉบับ รัฐจะไม่ให้ความคุ้มครองในฐานะงานอันมีลิขสิทธิ์เลย
เพราะถ้าหากมีการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว ย่อมตามมาด้วยการหวงกัน
และปกปิดการเข้าถึง และอาจทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้
หรือเข้าถึงได้ยากขึ้นด้วย ซึ่งกฎหมายในที่นี้ หมายถึงกฎหมายทุกระดับ
ตั้งแต่พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และยังรวมไปถึง ระเบียบ ข้อบังคับ
ประกาศ คำสั่ง หรือหนังสือโต้ตอบของหน่วยงานราชการด้วย โดยมีเจตนารมณ์ไปในทางเดียวกัน
คำพิพากษา คำสั่ง
คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการแบบใด ที่ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
คำพิพากษา ในทีนี้ หมายถึงคำตัดสินของศาล ไม่ว่าจะเป็นฉบับเต็ม
หรือที่เขียน หรือคัดย่อมาก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่า
คำพิพากษาเป็นสิ่งที่ควรเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ เนื่องจาก
เป็นการแสดงถึงการวินิจฉัยคดีที่มีกฎหมายรองรับ การเผยแพร่คำพิพากษา
ย่อมทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจกฎหมายได้มากยิ่งขึ้น กฎหมายลิขสิทธิ์จึงยกเว้นไว้
ไม่ให้ความคุ้มครองคำพิพากษานั่นเอง
แต่หากมีการนำเอาบรรดาคำพิพากษา ในคดีต่างๆ ไปรวบรวม วิเคราะห์ แล้วจัดรูปแบบเรียบเรียงใหม่
ผู้เรียบเรียงก็จะได้ลิขสิทธิ์ในตัวเล่มงานที่ได้เรียบเรียงใหม่นั้น
เนื่องจากรูปเล่มนั้นไม่ใช่ตัวคำพิพากษานั่นเอง
คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง
ๆ ที่หน่วยงานรัฐจัดทำขึ้น แบบใดที่ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
เอกสารที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐนั้น แม้จะมีลายน้ำ
ก็มีฐานะเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน
ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด อีกทั้งคำแปลและการรวบรวม
ต้องเป็นงานที่หน่วยงานของรัฐนั้นๆ จัดทำขึ้นด้วยตนเองเท่านั้น
โดยหากหน่วยงานของรัฐ นำเอาบทความ หรืองานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
มาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงานนั้นๆ
ก็อาจมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้ด้วย
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments