เด็กฟ้องให้บิดารับรองบุตร ไม่ถือเป็นคดีอุทลุม บุตรสามารถฟ้องบิดาหรือไม่


เด็กฟ้องให้บิดารับรองบุตร ไม่ถือเป็นคดีอุทลุม บุตรสามารถฟ้องบิดาหรือไม่

         จากหลาย ๆ คำถามเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องค่าเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นั้น ฝ่ายไหนหรือใครสามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้ ซึ่งหากจะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร ผู้เยาว์คนนั้นต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเสียก่อน ปัญหาจึงมีว่าหากบิไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตร มารดาของผู้เยาว์นั้นก็มิได้เลี้ยงดู บุตรผู้เยาว์ก็สามารถฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งรับรองบุตรผู้เยาว์ได้เอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1556 วรรคสอง และคำว่า "อุทลุม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า ผิดประเวณี ผิดธรรมะ แต่การฟ้องขอให้รับรองบุตรนั้นมิได้เป็นการฟ้องโดยผิดประเวณี หรือผิดธรรมมะแต่อย่างใด รวมถึงผู้เยาว์คนนั้นยังมิถือเป็นบุตรโดยอบด้วยกฎหมายของบิดา ย่อมฟ้องร้องต่อศาลได้

 

        เมื่อได้ทราบในเบื้องต้นแล้วว่า คดีอุทลุมนั้นห้ามมิให้บุตรฟ้องบุพการีหรือบิดามารดาของตนในคดีแพ่งหรือคดีอาญา แต่หากเป็นกรณีที่ฟ้องขอให้เด็กเป็นบุตรตามมาตรา 1556 ซึ่งให้สิทธิแก่บุตรที่สามารถฟ้องร้องให้ตนเป็นบุตรได้ด้วยตนเอง หากบุตรใช้สิทธิดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นคดีอุทลุม

 

        เมื่อปรากฏว่าก่อนฟ้องเป็นคดีดังกล่าว ตัวของเด็กนั้นยังมิได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อในขณะนั้นเด็กยังมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนศาลมีคำพิพากษา จึงยังถือไม่ได้ว่า เป็นคดีอุทลุม

 

        อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533 โจทก์ผู้มีอายุ 16 ปีเศษ ซึ่งฟ้องขอให้จำเลยผู้เป็นบิดารับรองโจทก์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยในคดีเดียวกันนี้ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กที่มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ อีกทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุม ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และการฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตรนั่นเอง โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายใน30 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบเพราะตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว เพื่อให้บันทึกในทะเบียนเท่านั้น ประกอบกับโจทก์มิได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในคำฟ้องจึงเป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคแรก.

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้

 

เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง  ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ

        ในกรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว  แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

       การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่ผู้สืบสันดานของเด็กเป็นผู้เยาว์ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลมประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์

       ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562  บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer

สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 640,662