ขึงลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันทรัพย์สิน มีผู้มาถูกเข้าถึงแก่ความตาย จะเป็นความผิดหรือไม่


ขึงลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันทรัพย์สิน มีผู้มาถูกเข้าถึงแก่ความตาย จะเป็นความผิดหรือไม่

กรณีบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่คนร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 32/2510

ผู้ตายเรียนหนังสืออยู่ที่วัดละหารซึ่งจำเลยเป็นครูอยู่ทั้งเป็นเด็กหญิงและเป็นหลานของจำเลย มีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลย เมื่อจำเลยขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้ในบริเวณบ้านและปล่อยกระแสไฟฟ้าให้แล่นไปตามลวดนั้นเมื่อเวลาจวนสว่างผู้ตายเข้าไปในเขตรั้วบ้านจำเลยและมาถูกสายไฟฟ้าของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยไม่มีเจตนา ตามมาตรา 290

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999/2511

การที่จำเลยใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใดๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนของรั้วไม้โรงภาพยนต์ของจำเลย แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า 220 โวลท์ ไปตามเส้นลวดนั้น เพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปลอบดูภาพยนต์ทางรูฝาโรงภาพยนต์ เป็นการกระทำที่จำเลยมิได้เจตนาฆ่าแต่เจตนาทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 มิใช่ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2520

จำเลยตกกล้าในหลังบ้านและได้ขึงลวด 2 เส้นรอบที่ตกกล้าสูงจากพื้นดินประมาณ 3 นิ้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลท์ จากบ้านเข้าไปในเส้นลวดดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้หนูไปกินข้าวกล้าโดยรู้อยู่ว่าสายลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้นั้น หากสัตว์ไปถูกเข้าจะถึงแก่ความตายได้ ทั้งจำเลยยังปักป้ายห้ามเข้าในเขตที่ตกกล้าด้วยแสดงว่าจำเลยย่อมรู้ว่าสายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นอันตรายต่อคนที่เข้าไปในเขตที่ตกกล้า เช่นเดียวกันการที่จำเลยขึงลวดกระแสไฟฟ้าเช่นนี้ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่า อาจมีคน หากบหาปลาตามทุ่งนาเดินมาถูกลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวและได้รับอันตรายแก่ร่างกาย จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้อื่นแล้ว เมื่อผู้ตายผ่านไปถูกสายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตายอันเป็นผลจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2528

การที่ ส. ผู้ตายได้เข้าไปในบริเวณบ่อปลาของนายจ้างของจำเลย เพื่อจะเกี่ยวหญ้า ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิทำร้ายผู้ตายได้เมื่อจำเลยขึงลวดไว้ ภายในรั้วลาดหนามที่ล้อมรอบบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของนายจ้างและ ปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปตามลวดนั้นผู้ตายมาถูกสายไฟฟ้าของจำเลยเข้า ถึงแก่ความตาย ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่น โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290


กรณีเป็นคนร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1923/2519

โรงเก็บของของจำเลยอยู่ในบริเวณสวนของจำเลย มีรั้วต้นพู่ระหงปลูกเป็นแนวเขต จำเลยเก็บของอันมีค่าเช่นเครื่องยนต์สูบน้ำและอุปกรณ์อื่นๆไว้ ทรัพย์สินที่จำเลยเก็บไว้ในโรงเก็บของเคยถูกคนร้ายลักไปในตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม จำเลยเอาเส้นลวดขึงที่โรงเก็บของและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านไว้เพื่อป้องกันคนร้ายผู้ตายกับพวกอีก 3 คนบุกรุกเข้าไปที่โรงเก็บของในเวลาวิกาล โดยเจตนาจะลักทรัพย์ ในมือผู้ตายมีเหล็กไขควง 1 อัน แต่ผู้ตายไปถูกเส้นลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ถึงแก่ความตายเสียก่อน มิฉะนั้นผู้ตายกับพวกย่อมลักทรัพย์ของจำเลยไปได้ นับได้ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยใกล้จะถึงแล้ว ถ้าจำเลยไปพบเห็นเข้า จำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิด

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6490/2548

แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายพอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัดย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมีมูลค่าไม่มากนัก การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน เมื่อผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดดังกล่าวดูดถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรกว่าเหตุตาม ป.อ. มาตรา 69

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2549

ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยเป็นการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง 220 โวลท์ ที่สามารถดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา 69

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 9794/2552

จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด 1 เส้น จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกายเนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ 14 ปีเศษกับ ต. อายุ 15 ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้นเมื่อไม่ปราฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุจำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7650/2553

จำเลยจะไม่ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยกระทำโดยป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง 220 โวลต์ ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้นย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้ แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตาม ป.อ. มาตรา 69

 

มาตรา 69  ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 และมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

 

มาตรา 290  ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

          ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 638,187