เมื่อฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าทดแทนได้ แต่การผิดสัญญาสมรส เรียกค่าทดแทนไม่ได้ !!

          การเรียกค่าทดแทนในกรณีผิดสัญญาหมั่นนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1439 ได้บัญญัติไว้ว่า “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญา หมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

          มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
          (1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
          (2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคล ผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่อง ในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
          (3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
          ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมด หรือเป็นส่วนหนึ่งของ ค่าทดแทนที่หญิงพึงได้รับ หรือศาลอาจให้ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึง ของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้

          ข้อสังเกต การที่จะเรียกค่าทดแทนในกรณีผิดสัญญาหมั้นได้นั้น ก่อนอื่นต้องได้ความว่า มีการหมั้นกันตามกฎหมายแล้ว แล้วต่อมาคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น หากฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น หญิงนั้นก็มีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ กรณีที่หญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ชายก็มีสิทธิเรียกค่าทดแทนและเรียกคืนของหมั้นจากหญิงได้

          ส่วนการสัญญาว่าจะสมรสกัน แต่ไม่ได้มีการหมั้นกันตามกฎหมาย แต่อีกฝ่ายผิดสัญญาไม่สมรสด้วย อีกฝ่ายจะเรียกค่าทดแทนได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439 ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทน ฉะนั้น การตกลงจะสมรสกันโดยไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรองเอาไว้ และจะนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยนิติกรรมมาใช้ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ได้ เพราะบทบัญญัติว่าด้วยการหมั้นและการสมรส มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น การผิดสัญญาสมรส จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนได้ ซึ่งมีแนวคำวินิจฉัยศาลฎีกาดังนี้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2532 วินิจฉัยว่า “ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติว่า ในกรณีที่ไม่มีการหมั้น หากฝ่ายใดผิดสัญญาจะสมรส ให้ฝ่ายนั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนอย่างเช่นกรณีที่มีการหมั้น ฉะนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจะสมรสหรือจดทะเบียนสมรสโดยไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง แม้จำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้”

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer

 


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน
Visitors: 640,662