กฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องหย่าสามีชาวต่างชาติที่หญิงไทยต้องรู้ !!

             เนื่องด้วยปัจจุบัน  มีคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหญิงไทยกับสามีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก เช่นการฟ้องหย่า การฟ้องเพื่อขอรับรองบุตรก็ดี ซึ่งนอกจากจะต้องพิจารณาหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว ยังต้องมีข้อพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 อีกด้วย

           บุคคลทั่วไปหลายคนมักจะมีความคิดที่คล้ายกันว่า เมื่อชายหญิงจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศไทย เวลาจะหย่ากันก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ ซึ่งเป็นความคิดที่คลาดเคลื่อนจากหลักกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอหลักเกณฑ์และแง่มุมของกฎหมายในการฟ้องหย่าสามีชาวต่างชาติ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ดังนี้

             มาตรา 27 ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายต่างชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้

             เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า

             จากหลักกฎหมายดังกล่าว มีข้อที่ต้องพิจารณา ดังนี้

         1) ศาลสยาม  หมายถึงศาลไทย การฟ้องหย่า     นั้นย่อมหมายถึงมีการจดทะเบียนสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือ สามีภริยาจะทำการสมรสตามแบบกฎหมายของประเทศใดหรือหลักศาสนาใดก็ได้ ดังนั้น คู่สมรสจะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายต่างประเทศหรือจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยก็ตาม ถือว่ามีการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอันอยู่ในเงื่อนไขที่จะฟ้องหย่าได้

          2) เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลไทย เป็นหน้าที่ของฝ่ายนั้นต้องมีภาระพิสูจน์ให้ได้ว่า ตามกฎหมายแห่งสัญชาติสามี (ต้องไม่ใช่ประเทศไทย) เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสแล้ว คู่สมรสสามารถฟ้องหย่าได้ กล่าวคือ มีเหตุในการฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งวิธีการพิสูจน์ (หมายถึงเวลาสืบพยานต่อศาล) ก็ต้องคัดลองกฎหมายแห่งสัญชาติของสามี พร้อมคำแปลเสนอต่อศาลไทย เช่น นางเอ มีสามีชาวต่างชาติประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่รัฐเท็กซัส  ฉะนั้น เวลาสืบพยานต่อศาล  ฝ่ายโจทก์ฟ้องหย่า  ต้องคัดลอกกฎหมายของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมคำแปล มาสืบพยานต่อศาลด้วย

        3)   หากผู้ยื่นคำฟ้องไม่สามารถพิสูจน์ ตามข้อ 2) ได้ ศาลไทยต้องพิพากษายกฟ้อง เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของอำนาจฟ้องและหลักกฎหมายตามมาตรา 27 เป็นบทตัดอำนาจของศาลไทย    

          4) ศาลไทยจะต้องอ้างหลักกฎหมายตามมาตรา 8 ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล จะใช้กฎหมายในประเทศสยามมาบังคับในเรื่องฟ้องหย่าไม่ได้ เพราะตามหลักกฎหมายมาตรา 8 เป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างกฎหมายของกฎหมายต่างประเทศขึ้น เพื่อประโยชน์ของตน ดังนั้น ผู้กล่าวอ้างต้องพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของกฎหมายต่างประเทศ มิฉะนั้นแล้วต้องใช้กฎหมายไทยใช้บังคับในเรื่องนั้นๆ เช่น กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามกฎหมายประเทศอังกฤษ ผู้กล่าวอ้างต้องพิสูจน์ถึงหลักกฎหมายดังกล่าว หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลไทยจะใช้หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ขึ้นพิจารณา

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549  ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุเงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้

          สำหรับเหตุหย่า ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทศไทยบังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบายไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดและไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์ซึ่งโจทก์เองก็ด่าจำเลยกลับไปด้วย แต่ไม่เคยทะเลาะกันเสียงดัง เพียงแต่ไม่พูดกันขณะโมโห แม้ในช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ แต่ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน
#1 โดย: สุริยา [IP: 1.47.23.xxx]
เมื่อ: 2022-09-23 05:20:43
ความยุติธรรมทางสังคม รวยหรือจนจะปฏิษัติเท่าเทียมกัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 640,662