ที่ดิน ส.ป.ก. ทำพินัยกรรมยกให้กันไม่ได้
โดยปกติแล้ว
การทำพินัยกรรมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้ามรดกโดยแท้ที่จะสามารถจำหน่ายทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆของตนให้บุคคลอื่น
โดยผู้รับพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นทายาท หรือเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดแต่อย่างใด
และไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาทด้วย แต่ที่ดิน ส.ป.ก. นั้น
ผู้ตายไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เพียงแต่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเท่านั้น
จึงไม่สามารถโอนหรือทำพินัยกรรมได้อย่างที่ดินทั่วไป แต่ต้องตกอยู่ภายใต้
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่บัญญัติไว้ว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก
หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้
เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก.
เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
การทำพินัยกรรมยกให้บุคคลภายนอกก็ดี
หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าทำกินในที่ดินแปลงที่ตนได้รับอนุญาต
ก็ย่อมเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายและมีผลเป็นโมฆะ
ทั้งนี้ตามตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2557 “ทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน
จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น
ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว
การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม
ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม
ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม
และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2553 “พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า
ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก
หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้
เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก.
เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.
ดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า
ปัจจุบันเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน
รัฐจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด
จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) นั้นจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม
การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
(ส.ป.ก. 4-01) ให้โจทก์มีสิทธิเข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดิน
ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว
จึงต้องถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน
มิฉะนั้นย่อมก่อให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายโดยใช้วิธีการทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อ ส.
ถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส.
ส่งมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้โจทก์เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยได้”
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments