5 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนเปิดวงแชร์แจกดอก
1. การเปิดวงแชร์แจกดอกนั้น ไม่ว่าจะเปิดกี่วง
หรือเงินกองกลางเกิน 300,000 ก็ไม่เป็นความผิดตาม
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์
วงแชร์ที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 นั้น ต้องเป็นกรณีที่ บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
ตกลงจะส่งเงินหรือทรัพย์สินรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ
เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางในแต่ละงวดโดยการประมูล แต่สำหรับวงแชร์แจกดอกนั้น
มีลักษณะเป็นการให้สมาชิกนำส่งเงินเข้าเป็นเงินกองกลางเพียงงวดเดียว
โดยเท้าแชร์ให้คำมั่นว่าจะจ่ายดอกเบี้ย หรือ
ผลประโยชน์ตอบแทนให้กับสมาชิกวงแชร์ทุกคน เมื่อครบรอบที่กำหนด การตั้งวงแชร์แจกดอก
จึงไม่ใช่การเล่นแชร์ตามนิยามของพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การเล่นแชร์ตามนิยามของกฎหมายแล้ว จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่กำหนดห้ามให้จัดให้มีการเล่นแชร์เกิน 3 วง หรือมีสมาชิกรวมกันเกินสามสิบคน
หรือมีทุนกองกลางรวมเกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง(300,000 บาท) ด้วย
2. มีโทษจำคุก 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนถึง 1ล้านบาท
ไม่ว่าเท้าจะจ่ายดอกตามที่ได้โฆษณาไว้จริงหรือไม่ก็ตาม
แม้การตั้งวงแชร์แจกดอกจะไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯก็ตาม
แต่วงแชร์แจกดอกนี้ มีลักษณะเป็นการกู้ ยืม รับเข้าเป็นสมาชิก รับเข้าร่วมลงทุน
โดยเท้าแชร์(ในฐานะผู้กู้ยืมเงิน)
ตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับลูกแชร์(ในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงิน)โดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าตน(เท้าแชร์)จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้
โดยที่ตนรู้อยู่แล้วว่า
จะนำเงินจากผู้ให้กู้รายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้
หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ
โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้
ซึ่งเป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 12 เท้าแชร์ในฐานะผู้กู้ต้องระวางโทษจำคุก
ตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโทษปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังเปิดวงแชร์แจกดอกด้วย
อย่างไรก็ดี
ความผิดดังกล่าวจะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อเท้าแชร์(ผู้กู้)ได้รับเงินจากบุคคลอื่นไป
และกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้มีบทยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ
สำหรับกรณีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่โฆษณาไว้ด้วย ดังนั้น
แม้ว่าเท้าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามที่ได้ประกาศไว้ก็ตาม
ก็ไม่ได้ทำให้หลุดพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด
3. ลูกแชร์ไม่สามารถฟ้องหรือแจ้งความให้เท้าแชร์จ่ายเงินและผลประโยชน์ตามที่ได้โฆษณาไว้ได้
การเปิดวงแชร์แจกดอก
มีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ
ไม่สามารถนำมาฟ้องคดีในทางแพ่งได้
สำหรับการแจ้งความนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษทางอาญา
(ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 2.)
ไม่ใช่การไหว้วานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทวงหนี้ให้กับผู้ให้กู้แต่อย่างใด
การแจ้งความจึงมีผลเพียงให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบปากคำและดำเนินคดีกับเท้าแชร์ตามกฎหมายเท่านั้น
อนึ่ง แม้การส่งเงินให้กับเท้าแชร์จะไม่ใช่การกู้ยืมหรือนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม
แต่เงินต้นที่ลูกแชร์ส่งให้ไปนั้น ถือเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด
ลูกแชร์(ผู้ให้กู้)
สามารถร้องขอให้พนักงานอัยการเรียกเงินต้นคืนให้กับผู้ให้กู้ได้
พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเท่าที่กฎหมายกำหนด(ปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี)
4. หากมูลค่าความเสียหายสูง เท้าแชร์มีโอกาสล้มละลายพร้อมติดคุก
ในการฟ้องคดีให้เท้าแชร์รับโทษทางอาญาตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น
หากผู้ต้องหาเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินได้
และเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินรายหนึ่งหรือหลายราย เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาท
และเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ไม่ว่าจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว
พนักงานอัยการสามารถฟ้องให้บุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลล้มละลายได้ด้วย
5. หากแจ้งความไปแล้ว แม้เท้าแชร์จะจ่ายเงินให้จนครบในภายหลัง
หรือลูกแชร์ไม่ติดใจเอาเรื่อง ก็ยอมความกันไม่ได้
การกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดว่าด้วยการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนนี้
เป็นความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย สำหรับลูกแชร์(ผู้ให้กู้)
แม้จะมีอำนาจแจ้งความกล่าวโทษ แต่ก็ไม่มีอำนาจถอนแจ้งความ
และไม่สามารถฟ้องดำเนินคดีกับเท้าแชร์ด้วยตัวเองได้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2530
ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
มิใช่กระทำโดยเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลใดเป็นส่วนตัว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรง
พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากความผิดฐานฉ้อโกง
ตามประมวลกฎหมายอาญาดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดนี้ ตาม
มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 8 บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะของการกู้ยืมในกรณีเช่นนี้ไว้
และบัญญัติถึงการที่จะปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนกับวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง
และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้
เพื่อคุ้มครองประชาชนเป็นส่วนรวม
และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าวนั้นได้
ทั้งนี้เพื่อให้กรณีเสร็จเด็ดขาดไปทันทีดังนั้น ความผิดตามพระราชกำหนดนี้
รัฐเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีได้.
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments