เจ้าหนี้เงินกู้และจำนองโปรดฟัง หากลูกหนี้เสียชีวิต เจ้าหนี้ต้องฟ้องผู้รับมรดกให้ชำระหนี้ภายใน 1 ปี มิฉะนั้น คดีขาดอายุความ
การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็น กฎของธรรมชาติ
เกิดขึ้นได้กับทุกคนและย่อมดับไปได้กับทุกคนเช่นกัน เมื่อบุคคลเกิดขึ้นมาแล้ว
ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เกิดขึ้นมากมาย แต่เมื่อเราเสียชีวิตลง
สิทธิและหน้าที่บางอย่างย่อมสิ้นสุดลงเช่นกัน บทความนี้จะขอกล่าวถึงสิทธิระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้
ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า
ลูกหนี้ของท่านเสียชีวิตลงในขณะที่ยังคงมีหนี้ค้างชำระกับท่านอยู่
สิทธิในการเรียกร้องให้ชำระหนี้จะมีกำหนดระยะเวลาเท่าใด
และผู้ใดต้องเป็นผู้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ของท่าน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า
ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก.......
วรรคสาม : ภายใต้บังคับมาตรา
193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความกว่าหนึ่งปี
มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้
หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
1. กรณีตกลงทำเฉพาะสัญญากู้ยืมเงิน
เจ้าหนี้ของลูกหนี้(เจ้ามรดก) ใช้สิทธิฟ้องเรียกหนี้ได้ภายในอายุความ
1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม
และไม่ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระ
คำพิพากษาฎีกาที่ 3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี
นับแต่เจ้าหน้าได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้
เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตาย
แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน
โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี
นับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้
เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย
หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจล่วงพ้นไปแล้ว
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับคดีแม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
2. กรณีทำสัญญากู้ยืมเงิน + สัญญาจำนอง
จะมีความแตกต่างไปจากสัญญากู้ยืมเงินธรรมดาคือ
แม้ว่าสิทธิในการฟ้องเรียกหนี้คืนตามสัญญากู้ยืมเงินจะระงับไป
แต่สิทธิในการบังคับจำนองยังไม่ระงับไปด้วย
เจ้าหนี้สามารถเรียกร้องให้ผู้รับมรดกของลูกหนี้ชำระหนี้แก่ตนได้อยู่นั่นเอง
แม้พ้นกำหนด 1 ปีก็ตาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 460/2550
โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของ
ช. เจ้ามรดก ทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ
เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย
ดังนี้แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ
โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27
แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช.
เจ้ามรดกได้ด้วยไม่
แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันจะมีข้อความระบุว่าเมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ
เงินยังขาดอยู่เท่าไรผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม
สรุปคือ เมื่อลูกหนี้(เจ้ามรดก) เสียชีวิตลง
บรรดาเจ้าหนี้ต่างเกิดสิทธิเรียกร้อง ให้ผู้รับมรดก(ทายาท หรือ ผู้รับพินัยกรรม)
ของลูกหนี้ชำระหนี้แก่ตนภายใน 1 ปี
นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการเสียชีวิตของลูกหนี้ มิฉะนั้นคดีขาดอายุความ
และไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเพราะอาจพ้นระยะเวลา 1 ปี
ตามมาตรา 1754 ส่วนกรณีทำสัญญาจำนองไว้ด้วย
แม้ไม่ได้เรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินภายใน 1 ปี ก็ตาม
เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองได้อยู่
แต่ไม่สามารถเรียกให้ชดใช้ราคาหรือทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากทรัพย์จำนองได้
กล่าวคือ บังคับได้เฉพาะทรัพย์จำนอง หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินไม่พอก็ไม่สามารถไปยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้นั่นเอง
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments