พฤติการณ์อย่างไรจึงจะถือว่ารู้ว่ามีการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง

        ในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระเงินคืนแก่โจทก์หลายฉบับ แน่นอนการที่โจทก์จะอ้างว่าเพิ่งทราบว่าตนถูกหลอกลวงนั้น ย่อมอ้างว่าทราบเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งก็ยากที่จะพิสูจน์ได้ว่า ความจริงแล้ว โจทก์ทราบว่าตนถูกหลอกลวงตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่กรณีที่มีการฉ้อโกงโดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์หลายครั้ง และขอผัดผ่อนที่จะชำระเงินคืนให้แก่โจทก์เรื่อยมา เช่นนี้แล้ว จะถือว่าพฤติการณ์ที่โจทก์น่าจะรู้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เรื่องนี้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว คือ

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2551

        จำเลยชักชวนโจทก์ร่วมให้ลงทุนทำธุรกิจกับจำเลย โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ของโรงแรมเพื่อจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมไทยให้ชาวต่างประเทศมาซื้อและนำไปทำกล่องปากกาย่านลิเภาส่งให้บริษัท ก. พร้อมกับนำหลักฐานการติดต่อโรงแรมและบริษัท ก. มาให้ดู โจทก์ร่วมจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยรวม 13 ครั้ง จากนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่เห็นว่าจำเลยจะดำเนินการใดๆ และคอยติดตามทวงถามจำเลยว่าดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจไปมากน้อยเพียงใด จำเลยบ่ายเบี่ยงว่ากำลังติดต่ออยู่และยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์ร่วมจึงทวงเงินคืน แต่แทนที่จำเลยจะคืนเงินกลับสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ร่วมสองฉบับ ซึ่งนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2543 อันเป็นวันที่โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยครั้งแรกถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมนั้นก็เป็นระยะเวลาหลายเดือน โจทก์ร่วมย่อมน่าจะรู้แต่นั้นแล้วว่าจำเลยหลอกลวงเอาเงินไปโดยมิได้ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจตามที่ชักชวนไว้ ครั้นโจทก์ร่วมนำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมทวงถาม แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายอีก จึงเป็นพฤติการณ์ที่มาสนับสนุนให้โจทก์ร่วมรู้แน่ชัดยิ่งขึ้นอีกว่าถูกจำเลยหลอกลวงแล้ว การที่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นไม่เป็นผลลบล้างการรับรู้ของโจทก์ร่วมที่ถูกจำเลยหลอกลวง แต่วันที่โจทก์ร่วมไปทวงถามเงินคืนจากจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นวันใด จึงต้องถือเอาวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จึงเกินกว่า 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

        สรุปคือ โจทก์ควรรู้ว่ามีการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิดนับแต่วันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรก ดังนั้น การดำเนินคดีโจทก์ต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่สั่งจ่ายเช็คฉบับแรก มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความ เด้อพี่น้องเด้อ !!!

        BY-ทนายนิค  โทร 095-9567735


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 640,660