จ่ายเช็คโดยมีดอกเบี้ยผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย ไม่ผิด พรบ.เช็ค
การสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้เงินยืมโดยมีดอกเบี้ยผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย
ต่อมาธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ผู้รับเช็คจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
เพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย และทำให้การออกเช็คไม่เป็นความผิดตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้ครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2543
จำนวนเงินในเช็คพิพาทได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ
10 ต่อเดือน เข้าไว้ด้วยกัน
ซึ่งเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 มาตรา
3(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654
การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย
ถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมาย
ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท
ก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2(4) ไม่ได้ ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3(1)
การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา
120,121
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2545
จำเลยกู้เงินจากผู้เสียหายเพียง 50,000 บาท แต่ในสัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยกู้ไป 60,000 บาท แสดงว่าเงิน 10,000 บาท
ที่เกินมาคือดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดจากจำเลย
ปรากฏว่าในสัญญากำหนดเวลาใช้เงินกู้คืนภายใน 1 เดือน
จึงเท่ากับเป็นการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราตามกฎหมาย
ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก)
การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายเรียกเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย
ถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตรา
แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2(4)
แม้ผู้เสียหายที่เป็นผู้กระทำผิดจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
มาตรา 4 ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่ามีการร้องทุกข์และสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายแล้ว
พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
และ 121
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4914 - 4915/2548
เช็คทั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1
กับจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายชำระค่าผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยจากการที่จำเลยที่ 1
นำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 654 กำหนดให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น
จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มีความผิดต่อ
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก)
การออกเช็คทั้งสองฉบับของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อ
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
ปรึกษากฎหมายโทร
080-9193691
, 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ
คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments