ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินให้แก่ตนเองโดยไม่มีสิทธิรับมรดก และมีการโอนที่ดินนั้นต่อไปแล้วผู้รับโอนนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนอง ดังนี้ ทายาทมีสิทธิติดตามเอาคืน!!

ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินให้แก่ตนเองโดยไม่มีสิทธิรับมรดก และมีการโอนที่ดินนั้นต่อไปแล้วผู้รับโอนนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนอง ดังนี้ ทายาทมีสิทธิติดตามเอาคืน!!

 

          หากผู้จัดการมรดกที่ไม่มีสิทธิรับมรดก แต่ถูกแต่งตั้งโดยคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก โอนที่ดินให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัว นอกจากไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายแล้ว ยังมีความผิดในข้อหายักยอกทรัพย์มรดกด้วย

 

          ต่อมาผู้จัดการมรดกดังกล่าว ได้โอนทรัพย์มรดกไปให้บุคคลอื่น และบุคคลที่ได้รับโอนเอาที่ดินไปจำนอง

 

ผู้รับจำนองก็ไม่อาจอ้างว่าตนสุจริตและเสียค่าตอบแทน เพื่อยังให้ตนได้รับความคุ้มครองได้ เมื่อผู้โอนไม่สิทธิ ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิเช่นเดียวกัน(ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน)

 

          บุคคลที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินแปลงนี้ จึงมีสิทธิติดตามเอาคืน

 

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1400/2557

โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย จึงเป็นทายาทลำดับที่ 1 มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณัชย์ มาตรา 1629 (1), 1598/28  ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทลำดับ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3)  เมื่อโจทก์เป็นทายาทในลำดับที่ 1 ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย  จำเลยที่  1 จึงไม่มีสิทธิรับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630  ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่โจทก์

ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก โอนที่ดินมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวจึงไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 รับโอนมาแล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรย่อมไม่ชอบเช่นกัน  (ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน)  จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว

เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินมรดกดังกล่าว ไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 5 เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705

ดังนั้น  จำเลยที่ 5 ผู้รับจำนองไม่อาจอ้างว่าตนสุจริตและเสียค่าตอบแทน เพื่อยังให้ตนได้รับความคุ้มครองได้ เพราะกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง

โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินแปลงนี้ จึงมีสิทธิติดตามเอาคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336

         

          มาตรา 705  การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่

 

          มาตรา 1336  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

          มาตรา 1598/28  บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

 

          มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

          (1) ผู้สืบสันดาน

          (2) บิดามารดา

          (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

          (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

          (5) ปู่ ย่า ตา ยาย

          (6) ลุง ป้า น้า อา

 

          มาตรา 1630  ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณี ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร


         ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,668