รู้ว่าไม่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ไปแจ้งตำรวจเพื่อแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษ นอกจากผิดฐานแจ้งความเท็จ ยังเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย


รู้ว่าไม่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ไปแจ้งตำรวจเพื่อแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษ นอกจากผิดฐานแจ้งความเท็จ ยังเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

        

             ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ความขัดแย้งของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ย่อมเกิดขึ้นได้ หากทว่า เมื่อเรามีความไม่พอใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วอาจมีเหตุการณ์ในการกระทำผิดเกิดขึ้น ทั้งๆที่ อาจเป็นการเข้าใจผิด หรือ เจตนาก็ตาม การที่นำความขัดแย้งส่วนตัว ไปปรักปรำผู้อื่น แล้วอาจถึงขนาดแจ้งความดำเนินคดี กับพนักงานสอบสวน โดยที่ผู้กรณีอีกฝ่าย ไม่ได้กระทำความผิดจริง ผู้กระทำ อาจได้รับโทษความผิดในฐานแจ้งความเท็จ และ หมิ่นประมาทผู้อื่นได้ เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงาน และ ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ทำให้เขาได้รับความเสียหาย

          คำถาม : ไม่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ไปแจ้งตำรวจเพื่อแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษ นอกจากผิดฐานแจ้งความเท็จ ยังเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยหรือไม่

          คำตอบ : เมื่อมีการแจ้งความเท็จในคดีอาญา ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยผู้แจ้งรู้อยู่แล้วว่า บุคคลที่ตนนำไปแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ไม่ได้มีการกระทำความผิดตามที่ตนกล่าวอ้าง ผู้แจ้งความนั้น มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ และนอกจากนั้น ยังเป็นการใส่ความผู้อื่น ต่อบุคคลที่สาม ถือได้ว่า เป็นการทำให้บุคคลนั้นๆ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และเสียชื่อเสียง จึงเป็นการหมิ่นประมาทอีกด้วย

 

          คำพิพากษาฎีกาที่ 8611/2553

          การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไป และได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นเพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มาตรา 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมอันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่น เกลียดชังและเสียชื่อเสียง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย(มาตรา 326)

         

          มาตรา 137  ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

          มาตรา 173  ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

 

          มาตรา 174  วรรคสอง   ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

 

          มาตรา 326  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มติดต่อกลับ


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,658