บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกถูกกำจัดมิให้รับมรดก ผู้สืบสันดานของบุตรบุญธรรมสามารถสืบมรดก(แทนที่) ได้หรือไม่


บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกถูกกำจัดมิให้รับมรดก ผู้สืบสันดานของบุตรบุญธรรมสามารถสืบมรดก(แทนที่) ได้หรือไม่

การถูกกำจัดมิให้รับมรดก หมายถึง การที่ทายาท ของเจ้ามรดก ต้องถูกกำจัดไม่ให้ได้รับส่วนแบ่งในมรดกที่ตัวทายาทนั้นพึ่งได้ หรือควรจะได้

ซึ่งทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดก โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น หรือเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตาม มาตรา 1606 ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดไม่ให้ได้มรดก แต่การถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ดังนั้น ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัด สามารถสืบมรดกแทนที่ต่อไปได้

แต่มีคำถามจากทางบ้านว่า “ผมเป็นบุตรบุญธรรมครับพี่ทนาย ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก เพราะผม..... แล้วลูกผมจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผม ในมรดกของพ่อบุญธรรมผมได้ไหมครับ ช่วยผมหน่อยครับ!!” ทนายนั่ง งง และไล่ลำดับญาติตามคำถามสักครู่

คำตอบ : ลูกคุณเข้ารับมรดกแทนที่คุณที่ถูกกำจัดได้ เพราะบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้คุณ(บุตรบุธรรม) จะถูกกําจัดมิให้รับมรดกแล้ว ลูกคุณย่อมสามารถสืบมรดกได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1607 ไม่ใช่ว่าการสืบมรดกจะมีได้เฉพาะการสืบมรดกของบุตรที่สืบสายโลหิตจากเจ้ามรดกเท่านั้น

 

          คำพิพากษาฎีกาที่ 5611/2554

          คำพิพากษาฎีกาที่ 5611/2554 แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยร่วมกับนางรัชนีกร (บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก) ปลอมพินัยกรรมของนางล้วนอันจะเป็นเหตุให้นางรัชนีกรตกเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (5) และการกำจัดมิให้รับมรดกอาจะเกิดขึ้นได้ ทั้งกรณีก่อนเจ้ามรดกตายและหลังเจ้ามรดกตาย ขึ้นอยู่กับเหตุในการถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 และ 1606 โดยมาตรา 1639 บัญญัติถึงการที่ทายาทชั้นผู้สืบสันดานถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ก็ตาม แต่มาตรา 1607 ยังได้บัญญัติถึงการถูกกําจัดมิให้รับมรดกไว้เป็นการเฉพาะอีกต่างหากว่า การถูกกําจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกําจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนว่าทายาทนั้นตายแล้ว ทั้งนี้โดยไม่ได้บัญญัติให้จํากัดว่าจะต้องเป็นกรณีที่ทายาทถูกกําจัดก่อนหรือหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนี้ในกรณีทายาทถูกกําจัดไม่ให้รับมรดกตาม มาตรา 1605 และ 1606 น้ัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกกําจัดก่อนหรือหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก็ตาม ในเรื่องมรดกแทนที่ก็ต้องบังคับไปตาม มาตรา 1607 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่นนี้ที่ให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกําจัดมิให้รับมรดก มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทที่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกได้ หาได้ถือว่า มาตรา 1607 ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1639 แต่อย่างใด นอกจากนี้มาตรา 1627 ยังบัญญัติว่า บุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ถือเช่นนั้นโดยเด็ดขาด ดังนี้ ย่อมต้องถือว่านางรัชนีกร(บุตรบุญธรรม)เป็นผู้สืบสันดานของนางล้วนเจ้ามรดก ซึ่งแม้นางรัชนีกรจะถูกกําจัดมิให้รับมรดกแล้ว ผู้สืบสันดานย่อมสามารถสืบมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1607 มิใช่ว่าการสืบมรดกนี้จะมีได้เฉพาะการสืบมรดกของบุตรที่สืบสายโลหิตจากเจ้ามรดกเท่านั้น และเมื่อโจทก์เป็นเพียงบุตรของน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทในลำดับถัดลงไป โจทก์ย่อมมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางล้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

 

          มาตรา 1605  ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

          มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

 

          มาตรา 1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

          (1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

          (2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ

          (3) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

          (4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

          (5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

          เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 

          มาตรา 1607  การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมาเช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการและใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้มาตรา 1548 บังคับโดยอนุโลม

 

          มาตรา 1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer




แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,660