ซื้อขายที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เรียกเงินคืนไม่ได้!!


ด้วยความอยากได้ที่ดินเยอะๆ ผู้ซื้อและผู้ขายก็เลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน และรวมที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเข้าไปด้วยซะเลย “ที่มันติดที่ดินเราไม่เห็นมีใครมาใช้ประโยชน์ด้วย เราก็ล้อมรั้วเลยดีกว่า” วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่รัฐมาบอกว่าจะเอาที่ตรงนี้ไปทำประโยชน์ “เอาที่ดินคืนมาซะดีๆ” ทำไงดีละทีนี้ ที่ดินโดนยึดไปตั้งเยอะ สู้กับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชนะแน่ๆ ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรียกเงินคืนจากผู้ขายดีกว่า

คำถาม : ทำสัญญาซื้อขายที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ซื้อมีสิทธิจะได้รับคืนราคาที่ดินที่ชำระแก่ผู้ขายหรือไม่?

คำตอบ : มันจบแล้วครับท่าน!! ไม่ได้เงินคืนแน่นนอน เพราะถือว่าผู้ซื้อชำระราคาที่ดินแก่ผู้ขายตามสัญญาโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำตามอำเภอใจ ประมาณว่าชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ และยังเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ผู้ซื้อจึงไม่มีสิทธิได้เรียกเงินที่ชำระราคาที่ดินคืนจากผู้ขาย และยังผิด ป.อ. มาตรา 360 เพราะครอบครองสาธารณสมบัติ บุกรุกที่หลวง ติดคุกติดตารางอีก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2555

ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่กัน จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 และมีผลเป็นการเสียเปล่าเท่ากับโจทก์จำเลยมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันและต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมแก่กันโดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172

แต่การที่โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถือว่าเป็นการกระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และมาตรา 411 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับคืนราคาที่ดินที่ชำระแก่จำเลยดังกล่าว

 

มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 172 วรรคสอง ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

ป.อ. มาตรา 360 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ใช้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer

 

 


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,678