ตอนที่ 24 นายจ้างมีอำนาจสั่งย้ายสถานที่ทำงานลูกจ้างได้หรือไม่เพียงใด ?
บางครั้งการย้ายลูกจ้าง
ก็มีทั้งการย้ายที่เป็นธรรม บางครั้งก็ไม่เป็นธรรม
แล้วย้ายอย่างไรจึงจะย้ายเป็นธรรมอันนี้ผมเชื่อว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็คงจะยังงงๆกันอยู่
นายจ้างก็บอกว่าฉันเป็นนายจ้างฉันจ่ายค่าจ้างฉันจะให้ลูกจ้างฉันไปทำงานที่ไหนก็ได้
ฉันต้องสั่งได้สิ ส่วนลูกจ้างก็บอกว่าการย้ายแม้จะเป็นอำนาจของนายจ้างก็จริง
แต่ก็ควรจะย้ายให้เป็นธรรมกับผมหน่อยไม่ใช่เอะอะอะไรก็สั่งย้าย ไม่ชอบใคร
อยากจะให้ใครออกก็กลั่นแกล้งโดยการสั่งย้าย
ปัญหาก็เกิดขึ้นที่โรงที่ศาลอยู่เป็นประจำ
มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา
วินิจฉัยไว้ว่า การย้ายลูกจ้างนั้นนายจ้างสามารถกระทำได้ แต่ต้องเข้าหลัก 2 หลักนี้คือ
1)
ต้องย้ายโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ
ในสัญญาจ้าง ในระเบียบหรือข้อบังคับ ต้องกำหนดให้นายจ้างมีสิทธิย้ายลูกจ้างได้ และ
2)
การย้ายนั้นต้องเป็นธรรมกับลูกจ้าง
ข้อนี้หมายถึง ต้องย้ายเพราะความจำเป็นของกิจการจริงๆ
ไม่ใช่ย้ายเพราะกลั่นแกล้งลูกจ้าง ย้ายไปแล้วต้องไม่ลดค่าจ้าง ไม่ลดสวัสดิการ
ไม่ลดตำแหน่งของลูกจ้าง และ
สภาพการจ้างหรือการทำงานใหม่นั้นต้องไม่ต่ำกว่าสภาพหรือตำแหน่งเดิม สรุปง่ายๆว่า
หากย้ายโดยมีเหตุมีผลอันสมควรรองรับ สามารถอธิบายให้ศาลฟังได้ ก็ถือว่าย้ายเป็นธรรม
ลองมาเปรียบเทียบดูแนวคำพิพากษา 2 ฉบับนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4105-4108/2550 นายจ้างมีคำสั่งย้ายลูกจ้างทั้งสี่ที่ทำงานหน่วยงานจังหวัดเชียงใหม่ไปทำงานที่หน่วยงานของนายจ้างในจังหวัดอื่นๆ
ซึ่งนายจ้างมีสิทธิกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แม้การย้ายจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันในครอบครัวของลูกจ้างผู้ถูกย้ายก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ตำแหน่งใหม่ก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม
ไม่ปรากฏว่านายจ้างกลั่นแกล้งย้ายลูกจ้างทั้งสี่
คำสั่งย้ายจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและชอบด้วยกฎหมาย
ลูกจ้างทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงาน ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย
แม้จะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่
ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166-167/2546 คำสั่งของนายจ้างที่สั่งย้ายลูกจ้างซึ่งมีรายได้น้อยให้ไปทำงานที่โรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าที่จังหวัดเพชรบุรี
ห่างจากสถานที่ทำงานเดิมถึง 120 กิโลเมตร โดยนายจ้างไม่จัดที่พักหรือไม่จัดหารถรับส่งในการไปทำงานให้
อีกทั้งลูกจ้างไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้
เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างเป็นอย่างยิ่ง
ยากที่ลูกจ้างซึ่งมีรายได้น้อยอยู่แล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างได้
จึงมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง คำสั่งของนายจ้างแม้จะชอบด้วยกฎหมาย
แต่ก็ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง
By ทนายนำชัย ปรึกษากฎหมายโทร
086-3314759 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments