นำห้องพักในคอนโดมิเนียมไปปล่อยเช่ารายวัน ผิดกฎหมาย !!

        “นำห้องพักในคอนโดมิเนียมไปปล่อยเช่ารายวัน ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

          คงจะมีให้เห็นกันอยู่หลายครั้ง สำหรับเจ้าของคอนโดที่หัวใส นำห้องของตนออกให้ผู้อื่นเช่ารายวัน ด้วยวิธีการโฆษณาหรือจองผ่านเพจเฟสบุ๊กก็ดี อโกด้าก็ดี บุ๊คกิ้งดอดคอมก็ดี วันนี้ทีมงานทนายใกล้ตัวขอฝากเตือนเจ้าของคอนโด หรือคนหัวหมอที่คิดจะทำ ด้วยวิธีการที่กวาดซื้อห้องพักในคอนโดมิเนียม แต่ไม่ได้นำมาอาศัยเป็นที่พักอาศัย แต่กับนำมาเปิดเป็นห้องพักรายวันและเรียกค่าตอบแทน การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำในเชิงพาณิชย์ และมีลักษณะเป็นการเปิดกิจการโรงแรม

          ซึ่งตาม พรบ.โรงแรม 2542 กำหนดให้ผู้ที่จะประกอบธุรกิจโรงแรม จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จึงจะสามารถนำห้องพักไปปล่อยเช่ารายวันได้เพื่อเรียกเอาค่าตอบแทน หากนำห้องพักไปเปิดเป็นห้องพักรายวัน โดยไม่ได้ขออนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 59 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

          นอกจากนี้ คอนโดมิเนียม ถือเป็นอาคารชุดตามความหมายของ พรบ.อาคารชุด ซึ่งให้ความหมายของคำว่าอาคารชุด คือ “อาคารชุด” หมายความว่า อาคารที่บุคคลสามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วน ๆ โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล และกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง ส่วนใหญ่สร้างขึ้น โดยคอนโดมิเนียมมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อเชิงพาณิชย์ เหมือนกับโรงแรมใหญ่ๆ ทั่วไป ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม หน่วยงานท้องถิ่นจะอนุญาตให้ก่อสร้าง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หากเจ้าของห้องพักนำไปปล่อยเช่ารายวัน ที่มีลักษณะเหมือนโรงแรม คุณยังมีความผิดตาม  พรบ.ควบคุมอาคารฯ อีก 1 กระทง เพราะการนำห้องพักในอาคารชุดคอนโดมิเนียมไปปล่อยเช่ารายวัน ถือเป็นการใช้อาคารผิดประเภท เพราะการให้เช่ารายวัน เป็นการใช้อาคารในลักษณะเชิงพาณิช มิใช่ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้อนุญาต เมื่อนำห้องพักที่มีเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ใช้เป็นที่พักอาศัย แต่นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จึงมีความผิดตามพรบ.ควบคุมอาคารฯ ตามมาตรา 32 ประกอบมาตรา 65 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ มาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม 32 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”

พระราชบัญญัติโรงแรมพ.ศ. ๒๕๔๗

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

          “โรงแรม” หมายความว่า สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ทั้งนี้ ไม่รวมถึง

          (๑) สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวซึ่งดำเนินการโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือเพื่อการกุศล หรือการศึกษา ทั้งนี้ โดยมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน

          (๒) สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการที่พักอาศัยโดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือนขึ้นไปเท่านั้น

          (๓) สถานที่พักอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมตามพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจโรงแรม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

          มาตรา ๕๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

          พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

          มาตรา 32 อาคารประเภทควบคุมการใช้ คือ อาคารดังต่อไปนี้

          “(1) อาคารสำหรับใช้เป็นคลังสินค้า โรงแรม อาคารชุด หรือสถานพยาบาล”

          (2) อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา การสาธารณสุข หรือกิจการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารประเภทควบคุมการใช้ หรือผู้แจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ได้กระทำการดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด เพื่อทำการตรวจสอบการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารนั้นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

          ห้ามมิให้บุคคลใดใช้อาคารนั้นเพื่อกิจการดังที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง

          ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทำการตรวจสอบแล้วเห็นว่าการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารนั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับใบอนุญาตหรือที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ แล้ว ก็ให้ออกใบรับรองให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาต หรือผู้แจ้งตามมาตรา 39 ทวิ เพื่อให้มีการใช้อาคารนั้นตามที่ได้รับใบอนุญาต หรือที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ ได้ แต่ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นมิได้ทำการตรวจสอบภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารนั้นเพื่อกิจการดังที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ ต่อไปได้

          ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารนั้นเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ”

          มาตรา 65 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 52 วรรคหก มาตรา 57 หรือมาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 หรือมาตรา 57 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”

         ติดตามข่าวที่ทีมทนายใกล้พาผู้เสียหายในคอนโดเข้าร้องเรียนจนกระทั่งมีการนำจับเจ้าของห้องพักในคอนโดที่ได้นำห้องปล่อยให้ผู้อื่นเช่ารายวันได้ที่ https://youtu.be/pTaWD-w1-dE

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,668