เรียกทรัพย์สินคืนจากคนรักได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่หย่าขาดจากกัน

         ในระหว่างเป็นเป็นสามีภริยา หากสามีหรือภริยาให้ทรัพย์สินกับคู่สมรสตนเองเช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์   โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน หากภายหลังได้เลิกรากัน ฝ่ายที่ให้ทรัพย์สิน สามารถเรียกทรัพย์สินนั้นคืนจากอีกฝ่ายได้  เพราะการที่คู่สมรสให้ทรัพย์สินแก่อีกฝ่ายในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ถือเป็นนิติกรรมการให้อย่างหนึ่ง จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 บัญญัติให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้

แต่ตั้งนี้ ต้องดูว่าทรัพย์สินที่ส่งมอบให้นั้น เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก่อนจดทะเบียนสมรส หรือเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งหากเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงมีอยู่แล้วก่อนที่จะจดทะเบียนสมรส กฎหมายบอกว่าให้ถือว่าเป็นสินส่วนตัว แต่หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มา หรือเกิดขึ้นระหว่างเป็นสามีภริยากัน กฎหมายบอกว่าให้เป็นสินสมรส สามีภริยามีสิทธิคนละครึ่ง

         ดังนั้น หากฝ่ายที่ให้ทรัพย์สินกับคู่สมรสในระหว่างเป็นสามีภริยากัน และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส ฝ่ายนั้นสามารถขอคืนได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็น แต่หากเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างเป็นสามีภริยากัน เมื่อมีการบอกล้างการให้ จะได้กลับคืนมาเพียงครึ่งเดียว หรือ 50 เปอร์เซ็นเท่านั้น

          หมายเหตุ การเรียกทรัพย์สินคืนหากยังไม่จดทะเบียนหย่าขาดกการการเป็นสามีภริยา สามารถขอคืนช่วงเวลาใดในขณะที่เป็นสามีภริยาก็ได้ แต่หากมีการหย่าแล้วต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนหย่า

           ตัวอย่าง ที่ฝ่ายชายขอคืนทรัพย์สินที่เคยให้ภริยา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15028/2557

          โจทก์เป็นชาวเยอรมัน โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 และอยู่อาศัยด้วยกันที่บ้านเลขที่ 263 หมู่ที่ 3 ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินของพี่สาวจำเลย และมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าบ้าน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า บ้านพิพาทเลขที่ 263 หมู่ที่ 3 ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ที่ยกให้จำเลยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์ที่ยกให้จำเลย มิใช่เป็นสินสมรสดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เห็นว่า ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์ตกลงปลูกบ้านพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์กับจำเลยในประเทศไทย โจทก์เป็นฝ่ายออกเงินค่าก่อสร้างบ้านทั้งหมดและบ้านสร้างเสร็จก่อนที่โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน ดังนี้ บ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์และเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ก่อนสมรส บ้านพิพาทจึงมิใช่สินสมรส แต่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ที่ยกให้จำเลย เมื่อจำเลยรับยกให้แล้วบ้านพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย       

           มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกคืนบ้านพิพาทจากจำเลยหรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ยกบ้านพิพาทให้จำเลยในระหว่างสมรส ดังนี้ นิติกรรมการให้จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 บัญญัติให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าโจทก์บอกล้างการให้เมื่อใด แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าและขอให้เพิกถอนการให้บ้านพิพาท ให้จำเลยคืนบ้านพิพาทแก่โจทก์ ก็ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ สัญญาจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป โจทก์มีสิทธิเรียกคืนบ้านพิพาทจากจำเลยได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าข้อเท็จจริงจะฟังได้หรือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนบ้านเลขที่ 263 หมู่ที่ 3 ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,663