เจตนาไปกู้เงินเจ้าหนี้ แต่ถูกเจ้าหนี้หลอกให้โอนขายหรือขายฝากที่ดินไว้เป็นประกันการกู้เงิน สัญญาซื้อขายหรือขายฝากที่ดินถือเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็น “โมฆะ” ต้องบังคับตามสัญญากู้เงิน

          ในการทำสัญญากันนั้น ต้องทำสัญญาให้ตรงตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาที่ตกลงกัน มิใช่จริงๆแล้วจะกู้ยืมเงินแต่ผู้ให้กู้ไม่ให้ยืม ถ้ามิได้นำที่ดินมาวางไว้เป็นประกัน ต่อมาเมื่อนำมาวางเป็นประกันแล้วก็จะทำนิติกรรมอำพรางขึ้นมา เช่นทำเป็นสัญญาซื้อขายบ้าง สัญญาขายฝากบ้าง เป็นต้น เพื่อที่เวลาผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้แล้วจะได้บังคับตามสัญญาที่เป็นนิติกรรมอำพรางนั้น กล่าวคือ ในสัญญาซื้อขายผู้ให้กู้ส่วนใหญ่จะให้เซ็นชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็จะนำหนังสือมอบอำนาจนั้นมาลงข้อความให้ตนมีอำนาจกระทำการแทนเพื่อที่ไปจัดการโอนที่ดินเป็นของตน  ทั้งๆที่ความจริงแล้วนั้น เมื่อผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัด ผู้ให้กู้ในฐานะเจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องตามสัญญากู้ยืมเงินและบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น ที่ดินที่ยึดไว้ ถ้าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

           แต่เพื่อเป็นการลดขั้นตอน และไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความฟ้องคดี โดยเห็นว่าเป็นวิธีที่ง่ายและได้ที่ดินมาในราคาต่ำ อีกทั้งในระหว่างการปล่อยกู้ยืมเงินเจ้าหนี้ก็ได้ดอกเบี้ยที่ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ระวังไว้นะครับเจ้าหนี้ ลูกหนี้บางคนอาจจะจ้างทนายความมาฟ้องท่านเรื่องนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินนะครับ

        นิติกรรมอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม

          ยกตัวอย่างตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา ดังต่อไปนี้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2553

         โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกัน   มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท    สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้เงินจากจำเลยโดยให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยยึดถือเป็นประกัน ถือว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินที่ทำกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยซึ่งถูกอำพรางไว้จึงต้องบังคับตามสัญญากู้เงินที่เป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้จากจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทไว้ ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสองและต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โดยปลอดจำนองหรือภาระผูกพันใด ๆ นั้น มีผลทำให้คำพิพากษากระทบต่อสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความในคดี ย่อมไม่อาจกระทำได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94

การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง

          แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้

        การที่ ต.  และจำเลยที่ 1  มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2551

        ค.กับจำเลยทั้งสามขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน  2,000,000 บาท มีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสามยินยอมทำเป็นสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์มีการทำรายการคิดการชำระเงินกัน กำหนดค่าไถ่ถอน 3,500,000 บาท และมีการคิดดอกเบี้ยกับหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าจำนวน 300,000 บาท ด้วย เมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ ประกอบกับโจทก์เองเบิกความรับว่า ค. ติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงินโจทก์ จึงฟังได้ว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน จึงต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เป็นผลให้ที่ดินและบ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,675