ลูกหนี้เงินกู้ สู้คดีอย่างไรให้ชนะ

           การกู้ยืมเงินเจ้าหนี้มาเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม เราในฐานะลูกหนี้ก็ต้องชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ตามจำนวนที่กู้ยืมมา เพราะด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 194 ทั้งนี้อาจจะรวมดอกเบี้ย หรือสิ่งตอบแทนอื่นๆตามที่ตกลงกันไว้ก็ได้ ลูกหนี้นั้นก็ไม่ควรเอาเปรียบเจ้าหนี้โดยการไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย และเจ้าหนี้เองก็ไม่ควรเอาเปรียบลูกหนี้โดยการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด หรือเรียกให้ชำระคืนในจำนวนที่สูงกว่าจำนวนที่ยืมกันจริง

        กรณีของเจ้าหนี้ที่เรียกเงินคืนจากลูกหนี้เกินจำนวนที่ได้กู้ยืมกันไว้ โดยนำ สัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ได้ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความ มากรอกข้อความและจำนวนเงินที่มากกว่าลงไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและเอาเปรียบลูกหนี้ มีผลทำให้สัญญากู้ยืมฉบับนั้นเป็นสัญญาปลอม ถือว่าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

 

           ตัวอย่างตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2548

        จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

        สรุปความก็คือ หากเจ้าหนี้เงินกู้นำสัญญากู้โดยไม่กรอกข้อความมาให้ลูกหนี้เงินกู้เซ็นชื่อผู้กู้ไว้ ต่อมาเจ้าหนี้นำสัญญากู้ไปกรอกจำนวนเงินกู้เองเกินกว่าจำนวนเงินที่กู้กันจริงโดยลูกหนี้ไม่รู้เห็นยินยอมด้วยแล้วนำสัญญากู้มาฟ้องคดีต่อศาล เช่นนี้แล้ว ถือว่าสัญญากู้ดังกล่าวเป็นสัญญากู้ปลอม ถือว่าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินฟ้องร้องไม่ได้ แต่ลูกหนี้ก็ยังคงเป็นหนี้อยู่จนกว่าจะชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ เพียงแต่จะฟ้องศาลบังคับลูกหนี้ให้ชำระหนี้ไม่ได้เท่านั้นเอง หรือพูดอีกอย่างก็คือ หากลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้คืนก็ไม่มีทางทำอะไรกับลูกหนี้เพื่อบังคับให้ชำระหนี้คืนได้เลย นอกเสียจาก “ทำใจ”

            อย่างไรก็ตาม บทความนี้ ไม่ได้มีเจตนาส่งเสริมให้ลูกหนี้บิดพลิ้วไม่จ่ายหนี้คืนเจ้าหนี้ แต่มีเจตนาเพียงเตือนสติให้เจ้าหนี้ได้รู้ว่า หากปฏิบัติไม่ถูกต้องเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้มากเกินไป ลูกหนี้ก็มีข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้อยู่ และอาจกลายเป็นว่าเจ้าหนี้ไม่มีทางจะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เลย แม้หนี้นั้นจะยังคงมีอยู่ไม่ระงับสิ้นไปก็ตาม ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ก็ควรปฏิบัติต่อกันแบบตรงไปตรงมาดีกว่า  และสิ่งสำคัญที่มากไปกว่าเงินนั้นคือความรู้สึกดีๆที่มีให้กัน  อย่าให้เงินนั้นทำลายความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเลย เพราะส่วนใหญ่ที่เห็นกันมากจะเป็นการกู้ยืมเงินกับคนใกล้ชิด เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนใกล้ตัว เป็นต้น  เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงกำหนดชำระคืนตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่แล้วลูกหนี้ก็ยังหาเงินไม่ได้ และไม่มีชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ จากคนที่เคยรักเคยชอบกัน ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปเป็นเกลียดกัน แสดงพฤติกรรมไม่ดีต่อกัน สุดท้ายก็ทะเลาะและเลิกคบหากันไปในที่สุด

 

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,657