อายุความคดีแพ่ง

อายุความ คือระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิฟ้อง หรือสิทธิร้องทุกข์ หากปล่อยเนิ่นนานไปจนล่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเช่นว่าจะเป็นอันยกขึ้นอ้างอีกมิได้ ซึ่งเรียกว่า "การขาดอายุความ" เช่น สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ คดีขาดอายุความ หนี้ขาดอายุความ
การที่กฎหมายกำหนดอายุความไว้นั้นมีเหตุผลสามประการ ดังต่อไปนี้

1. เป็นนิตินโยบายของรัฐเพื่อดำรงความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในการอ้างสิทธิของบุคคล อันเป็นการห้ามปรามมิให้มีการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วมาเรียกร้องต่อกัน เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วนั้นย่อมยุ่งยากสำหรับผู้เกี่ยวข้องในการหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์แก่กัน พยานหลักฐานอาจสูญหาย เสื่อมสภาพ บกพร่อง หรือคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลาได้ ซึ่งจะส่งผลให้การวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่อาจเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

2. เป็นโทษสำหรับเจ้าหนี้ที่ปล่อยปละละเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเสียที จนกระทั่งล่วงเลยอายุความที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้ลูกหนี้เกิดมี "สิทธิปฏิเสธขึ้นสามารถปฏิเสธการเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่เพิ่งมากระทำเมื่อล่วงเลยอายุความไปแล้วได้ ดังนั้น อายุความจึงเป็นเครื่องกระตุ้นให้เจ้าหนี้ระแวดระวังในการใช้สิทธิของตนมากขึ้น

3. เป็นการช่วยปลดเลื้องภาระของลูกหนี้ในอันที่จะต้องเก็บรักษาหลักฐานในการชำระหนี้ไว้ ไม่ต้องคอยพะวงรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้จนชั่วชีวิต เพราะเมื่อล่วงอายุความไปแล้ว ลูกหนี้ก็สามารถปฏิเสธการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ได้โดยเพียงต่อสู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้วเท่านั้น
ผลของการไม่ใช้สิทธิเรียกร้องในเวลาที่กฎหมายกำหนด
ลูกหนี้มีสิทธิปฎิเสธการชำระหนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้
ฎีกาที่ 1790/2555 จำเลยรับจ้างบริษัท ฟ ทำการขนส่งจากบริษัท ฮ ในประเทศอังกฤษทางรถยนต์ไปยังท่าอากาศยานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อขนส่งทางเครื่องบินมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในประเทศไทย แล้วจำเลยยังต้องรับผิดชอบขนส่งทางรถยนต์ต่อไปยังคลังสินค้าของบริษัท ฟ ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ด้วย ย่อมเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางรถยนต์หรือทางบกกับการขนส่งทางเครื่องบินหรือทางอากาศ อันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกัน จากสถานที่รับของในประเทศอังกฤษมาส่งมอบของยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ดังนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของบริษัท ฟ ต่อจำเลยจึงมีอายุความ 9 เดือน นับแต่วันที่จำเลยในฐานะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ เมื่อได้ความด้วยว่า หากสินค้าไม่สูญหายก็จะส่งถึงบริษัท ฟ ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จึงฟังได้ว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยควรจะส่งมอบสินค้า นับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เกินกว่า 9 เดือน คดีจึงขาดอายุความ

ฎีกาที่ 15081/2556 สำเนาใบตราส่งระบุข้อความตอนบนว่า ใบตราส่งสำหรับการขนส่งในมหาสมุทรหรือขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (BILL OF LADING FOR OCEAN TRANSPORT OR MULTIMODAL TRANSPORT) จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขนส่งสินค้าจากสถานีตรวจปล่อยสินค้าลาดกระบังทางรถยนต์ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และขนส่งสินค้าจากท่าเรือดังกล่าวไปยังท่าเรืออะปาปา ประเทศไนจีเรีย ซึ่งตามใบจองระวางเรือระบุให้ขนส่งสินค้าจากลาดกระบังไปท่าเรือแหลมฉบัง และจากท่าเรือดังกล่าวไปจนถึงท่าเรือปลายทาง การขนส่งในคดีนี้เป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางทะเล โดยในส่วนของการขนส่งทางบกนั้นเป็นการขนส่งข้ามจังหวัด มิใช่เพียงการขนส่งกันภายในท่าเรือซึ่งมีระยะทางไม่มาก อันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันสองรูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกันจากสถานที่รับของในประเทศไทยไปยังสถานที่ส่งมอบของในประเทศไนจีเรียเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของผู้เอาประกันภัยต่อจำเลยจึงมีอายุความ 9 เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏจากรายงานสำรวจความเสียหายว่า สินค้าถูกขนส่งถึงปลายทางที่ท่าเรืออะปาปาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 และมีการเรียกร้องความเสียหายแก่ผู้ขนส่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 จึงฟังได้ว่า ผู้ประกอบการขนส่งน่าจะส่งมอบของในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว และเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ในวันที่ 12 มกราคม 2552 ย่อมเกินกว่า 9 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ย่อมยกเอาเหตุสิทธิเรียกร้องขาดอายุความขึ้นปฏิเสธการชำระหนี้แก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10

ฎีกาที่ 22788/2555 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยกับทายาทอื่นครอบครองที่ดินพิพาทไว้อันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ถือว่าครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาทด้วย เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและทายาทอื่นเข้าครอบครองทำกินในทรัพย์มรดกก่อนนายเจิดเจ้ามรดกตาย และภายหลังจากเจ้ามรดกตายก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกตายเกิน 10 ปี แล้ว โดยโจทก์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก เช่นนี้ การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์โดยนำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความแน่ชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีจำเลยกับทายาทอื่นครอบครองแทนโจทก์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์นอกจากไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างแล้ว โจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่ามีบ้านปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท 3 หลัง เป็นของจำเลย นายชน และบุตรของนายชน คนละ 1 หลัง อันเป็นการเจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับทายาทอื่นครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเจิดซึ่งละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และการที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก กับเบิกความรับว่าโอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1747 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก สิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งเป็นคดีมรดกเช่นนี้จึงอยู่ในบังคับอายุความมรดกตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธินายเต่ง ซึ่งเป็นทายาทของนายเจิดเจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของนายเจิดก็ตาม กรณีก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และมาตรา 1747 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU

แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,487