ปลอมบิลเงินสด แม้ไม่มีต้นฉบับอันแท้จริงก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ

ปลอมบิลเงินสด แม้ไม่มีต้นฉบับอันแท้จริงก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ

        เอกสารสิทธิ หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ
        การปลอมเอกสาร คือ การทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ถือว่ากระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร

        อีกทั้ง การกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน กฎหมายให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสารเช่นกัน
ตามกฎหมายเรื่องการปลอมเอกสารตาม มาตรา 264 เห็นได้ว่า ผู้ทำเอกสารปลอมสามารถทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับได้
ดังนั้น การปลอมเอกสาร(บิลเงินสด)นั้น แม้จะไม่มีต้นฉบับอันแท้จริงของบิลเงินสด ก็เท่ากับเป็นการปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้เห็นว่าเป็นเอกสารที่ได้ทำมาจากต้นฉบับที่แท้จริง การปลอมเอกสารตามกฎหมายไม่จำเป็นจะต้องปลอมจากเอกสารที่มีอยู่แท้จริงเสมอไป

        คำพิพากษาฎีกาที่ 631/2557
        ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำผิดฐานปลอมเอกสาร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าผู้ทำเอกสารปลอมสามารถทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับได้

        จำเลยปลอมบิลเงินสด โดยนำแบบพิมพ์บิลเงินสดมาเขียนกรอกข้อความมีสาระสำคัญว่าบิลเงินสดฉบับดังกล่าวออกโดยร้าน ย. เลขที่ 44/4 ถนนจักรวรรดิ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร เล่มที่ 009 เลขที่ 057 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 ได้รับเงินจากบริษัท ป. เป็นค่าผ้าพื้นสีขาว จำนวน 90 เมตร จำนวนเงิน 3,600 บาท และค่าผ้าพื้นสีดำ จำนวน 90 เมตร จำนวนเงิน 3,600 บาท รวมจำนวนเงิน 7,200 บาท แล้วจำเลยลงลายมือชื่อผู้รับเงินปลอมใบบิลเงินสดดังกล่าว

        แม้จะไม่มีต้นฉบับอันแท้จริงของบิลเงินสด ก็เท่ากับเป็นการปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้เห็นว่าเป็นเอกสารที่ได้ทำมาจากต้นฉบับที่แท้จริง การปลอมเอกสารตามกฎหมายหาใช่จำเป็นจะต้องปลอมจากเอกสารที่มีอยู่แท้จริงเสมอไปไม่ การกระทำของจำเลยก็เป็นการปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 แล้ว

        มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

        ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954
หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer
สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi
หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU
www.closelawyer.co.th


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,165