ภริยาร้องเรียนสามีต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ถือเป็นเหตุฟ้องหย่า

ภริยาร้องเรียนสามีต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ถือเป็นเหตุฟ้องหย่า

 เหตุฟ้องหย่า มาตรา 1516 มีอยู่ใน (1)-(10)  ซึ่งหากเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงบางครั้งเราเองก็คิดว่าต้องเข้าเหตุตามกฎหมายแน่นอน แต่จะบอกว่าก็ไม่เสมอไป เช่นเหตุที่เป็นไปตามคำพิพากษาด้านล่างนี้ คือ กรณีที่ภริยา(เมีย) ไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสามี เนื่องมาจากสามีตัวดีนิสัยเจ้าชู้(พ่อบ้านใจกล้า) หรือไม่ส่งค่าเลี้ยงดูเลยเอาแต่ไปลงกับเหล้ายา หรือทอดทิ้งภริยาไปอยู่กับน้องกิ๊ฟน้องก้อย ทำให้สามีถูกคำสั่งลงโทษทางวินัย สามีเลยคิดว่าจะใช้เหตุนี้ฟ้องหย่าภริยา เพราะทั้งถูกสั่งลงโทษและยังต้องอับอายเพื่อนร่วมงานอีก

 แต่เดี๋ยวก่อน!!! ท่านพ่อบ้านใจกล้า มีคำพิพากษาฎีกาออกมามากมายว่า การที่ภริยาไปร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของสามีนั้น หากทำไปเนื่องจากพฤติกรรมของฝ่ายพ่อบ้านซึ่งเป็นฝ่ายผิดเอง แม้ภริยาจะร้องเรียนสามีจนถึงขั้นถูกสั่งลงโทษก็ตาม การกระทำดังกล่าวไม่เป็นหตุให้พ่อบ้านใจกล้าฟ้องหย่าภริยาได้

 คำพิพากษาฎีกาที่ 1976/2524

 การที่จำเลยร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาเป็นการกระทำด้วยอารมณ์หึงหวงอันเนื่องมาจากถูกโจทก์ทอดทิ้งแล้วโจทก์ไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น การกระทำของจำเลยยังไม่เพียงพอที่จะถือว่า ได้ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง

 คำพิพากษาฎีกาที่ 4065/2532

 การที่จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ขอแบ่งเงินเดือนเนื่องจากโจทก์ไม่ส่งเงินค่าเลี้ยงดูบุตรให้จำเลยบ้าง การกระทำดังกล่าวก็เพื่อคุ้มครองสิทธิที่จำเลยคิดว่าควรจะได้ จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ โจทก์เป็นฝ่ายไม่ไปมาหาสู่จำเลยตามหน้าที่สามีที่ดีเป็นเวลานานหลายปี ทั้งยังได้หญิงอื่นเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกัน จำเลยเองกลับเป็นฝ่ายไปหาโจทก์บ่อย ๆ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายทิ้งร้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

 คำพิพากษาฎีกาที่ 1761/2534

 การที่จำเลยร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ต่อกันเป็นเหตุให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยนั้น เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ย่อมมีความชอบธรรม ที่จะป้องกันหรือขัดขวางมิให้โจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ต่อกันอันเป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดร้อนได้ การกระทำของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(2)

 คำพิพากษาฎีกาที่ 1932/2536

 จำเลยเคยขอให้โจทก์หาที่พักต่างหากจากที่อาศัยอยู่กับเพื่อนในค่ายทหารที่จังหวัดนครพนม แต่โจทก์ไม่ดำเนินการใด ฉะนั้นการที่จำเลยยังคงทำงานและพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจึงเป็นเพราะโจทก์ไม่ขวนขวายหาที่พักอันเหมาะสม เพื่อโจทก์จำเลยจะได้อยู่ร่วมกันส่อเจตนาว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยไปอยู่ร่วมกัน กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่า

 การที่จำเลยมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของโจทก์ขอค่าเลี้ยงดูจากโจทก์ตามคำแนะนำของนายทหารพระธรรมนูญซึ่งผู้บังคับบัญชาของโจทก์ผู้แนะนำให้ไปหารือด้วยนั้นเป็นการดำเนินการไปตามข้อบังคับทหารว่าด้วยการปกครองครอบครัว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าโจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควรจากการกระทำดังกล่าวของจำเลยแต่กลับได้ความว่าโจทก์ได้เลื่อนยศตามลำดับตามการร้องเรียนของจำเลยจึงไม่ถึงขนาดทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงอันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้เช่นเดียวกัน

 มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

        อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 ,02-0749954 

หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer

สาขาเชียงใหม่ โทร 080-3955536 แอดไลน์ @closelawyercmi 

หรือ คลิก https://lin.ee/Zu2JmNU

www.closelawyer.co.th


แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,209