สัญญาซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ หากการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยที่จะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ผู้ขายต้องคืนเงินแก่ผู้ซื้อหรือไม่

ตามมาตรา 372 บัญญัติว่า “ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่”

 

          ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เช่น ที่ดินถูกเวนคืนทำให้โอนแก่กันไม่ได้ รถที่ซื้อขายกันถูกเพลิงไหม้ และเป็นเหตุที่จะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ เพราะเหตุดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของทั้งสองฝ่าย กฎหมายกำหนดให้ ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีก

 

          ดังนั้น ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย อันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ และกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนมาเป็นของผู้ซื้อ กฎหมายกำหนดให้ผู้ขายต้องคืนเงินแก่ผู้ซื้อ

 

            คำพิพากษาฎีกาที่ 9241/2539

          วัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทคือการรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่จะซื้อสำหรับโจทก์และการชำระค่าที่ดินตามจำนวนที่ตกลงกันสำหรับจำเลย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตั้งแต่วันถึงกำหนดโอนตามสัญญาว่ามีการเวนคืนที่ดิน และที่ดินที่จะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วยอันจะมีผลทำให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายถูกเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้

ดังนั้น การปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจึงเกิดปัญหาทั้งในส่วนจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ และในส่วนจำนวนค่าที่ดินที่จำเลยมุ่งไว้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย

กรณีถือได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทในคดีนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีก กรณีไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ และจำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 149/2506

โจทก์ขายรถยนต์เฟี้ยตให้จำเลยราคา 55,000 บาท โดยให้จำเลยชำระราคาด้วยเงินสด 20,000 บาท กับรถยนต์ออสตินของจำเลยตีราคา 35,000 บาท โจทก์จำเลยส่งมอบรถยนต์และเงินสดให้แก่กันแล้ว และตกลงจะไปโอนทะเบียนรถยนต์ให้กันเมื่อโจทก์ผ่อนชำระราคาครบและรับโอนทะเบียนมาจากกรมสวัสดิการฯ แล้ว ดังนี้ แสดงว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้กันจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว

ระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ รถยนต์เฟี้ยตซึ่งอยู่ในครอบครองของจำเลยถูกเพลิงไหม้ใช้การไม่ได้โดยไม่ใช่ความผิดของฝ่ายใด เป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เฟี้ยตให้จำเลยได้

ดังนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ออสตินให้โจทก์ได้เพราะเป็นสัญญาต่างตอบแทนกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 372 วรรคแรก

และเมื่อกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนมายังโจทก์ ก็ไม่เรียกว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์นั้น ตามมาตรา 370 และมาตรา 371 ก็บัญญัติว่า สัญญาต่างตอบแทนถ้ามีเงื่อนไขบังคับก่อน และทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ จะนำมาตรา 370 มาใช้บังคับไม่ได้อีกด้วย

 

มาตรา 372 วรรคแรก นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,509