บุคคลที่ได้รับสิทธิอาศัย รื้อบ้านไปแล้วปลูกบ้านขึ้นมาใหม่ จะเกิดสิทธิอาศัยขึ้นใหม่หรือไม่ และบ้านที่ปลูกขึ้นใหม่จะตกเป็นส่วนควบของที่ดินหรือไม่

“สิทธิอาศัย” หมายถึง สิทธิที่จะอยู่ในโรงเรียนของบุคคลอื่นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ลักษณะของสิทธิอาศัย จะต้องเป็นการอยู่ในโรงเรือนของผู้อื่นเพื่ออยู่อาศัย ไม่ใช้วัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อทำการค้า การทำธุรกิจ และต้องเป็นการอยู่อาศัยอยู่ในโรงเรือนเท่านั้น ไม่ใช้อาศัยอยู่ในที่ดิน

 

          สิทธิอาศัยจะได้มาโดยทางนิติกรรมเท่านั้น กล่าวคือ โดยการตกลงระหว่างเจ้าของโรงเรือนกับผู้ซึ่งได้จะได้สิทธิอาศัย และจะต้องไม่มีการให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของโรงเรือน ถ้ามีการให้ค่าตอบแทนจะมีลักษณะเป็นการเช่าทรัพย์ไม่ใช่สิทธิอาศัย

 

          ความระงับของสิทธิอาศัย

1. เมื่อนิติกรรมก่อสิทธิอาศัยไม่ได้กำหนดระยะเวลาการให้สิทธิอาศัยเอาไว้ ผู้ให้อาศัยมีสิทธิบอกเลิกสิทธิอาศัยเมือใดก็ได้โดยต้องบอกเลิกล่วงหน้าตามสมควร

2. ถ้านิติกรรมก่อตั้งสิทธิอาศัยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิอาศัยเอาไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสิทธิอาศัยย่อมระงับลง

3. เมื่อผู้ทรงสิทธิอาศัยถึงแก่ความตาย

4. เมื่อโรงเรือนที่ให้อาศัยสลายไปทั้งหมด

         

คำถาม : บุคคลที่ได้รับสิทธิอาศัย รื้อบ้านไปแล้วปลูกบ้านขึ้นมาใหม่ จะเกิดสิทธิอาศัยขึ้นใหม่หรือไม่ และบ้านที่ปลูกขึ้นใหม่จะตกเป็นส่วนควบของที่ดินหรือไม่

 

คำตอบ : เมื่อบ้านเดิม ซึ่งเป็นโรงเรือนได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง จึงไม่มีบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนที่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมายแล้ว การที่ปลูกบ้านใหม่ขึ้นแทนภายหลังก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด และการที่ปลูกบ้านใหม่ในที่ดินโดยไม่ได้รับความยินยอม บ้านใหม่จึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นของเจ้าของที่ดินด้วย

         

          คำพิพากษาฎีกาที่ 339/2551

          การอยู่อาศัยที่ ป.ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสิทธิ ใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ป.ได้

เมื่อจำเลยทั้งสองรื้อบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง จึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1402 และมาตรา 1408

การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านขึ้นแทนภายหลังจากที่ ป.ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง ก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่ไม่ และเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตามมาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1311

การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านพอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้าน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน

 

มาตรา 1402  บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยในโรงเรือน บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า

 

มาตรา 1408  เมื่อสิทธิอาศัยสิ้นลง ผู้อาศัยต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้ให้อาศัย


ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer



แบบฟอร์มปรึกษากฎหมาย/คดีความ

กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ทีมงานจะตอบคำถามท่านภายใน 3 วัน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 630,225